กว่าจะมีวันนี้ .. “ริเริ่ม” CASCAP

Share to Social

[modula id="4156"]

“ศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2545 กว่า 14 ปีตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน มี รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ คนแรก ในปี พ.ศ. 2545-2557 โดยวิสัยทัศน์ของศูนย์วิจัยฯ คือ เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการในด้านพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคพื้นเอเชียและโอเชียเนีย โดยปัจจุบันนี้ มีรศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น เป็นผู้อำนวยการ (พ.ศ. 2558-ปัจจุบัน)  ศูนย์ฯ มีความตระหนักและให้ความสำคัญ ในการกำหนดทิศทางในการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี และหาทุนวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการรักษา และกระบวนการคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี

จากผลการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของอุบัติการณ์ของพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดีในภาคอีสาน พบว่าหากสัตว์หรือคนติดพยาธิใบไม้ตับโรคจะทิ้งร่องรอยที่เป็นพังผืดรอบท่อน้ำดีไว้  นำไปสู่การเริ่มพิสูจน์ในสัตว์ทดลองก่อนซึ่งผลพิสูจน์พบว่าเกิดพังผืดรอบท่อน้ำดีที่อยู่ภายในตับของสัตว์ทดลองจริง ต่อมาจึงเริ่มมีการใช้อัลตร้าซาวด์บริเวณตับในคนเพื่อตรวจดูร่องรอยของโรค และผลพิสูจน์ดังกล่าวก็เป็นจริงดังที่ได้ตั้งสมมติฐานไว้

ไม่นานหลังจากนั้น จึงเกิดเป็นโครงการวิจัยเพื่อต้องการพิสูจน์สมมติฐานที่ได้ตั้งไว้อีกครั้งกับกลุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดี โดยเปิดพื้นที่ในอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ด้วยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ประชาชน รพสต. สสอ. อบต. ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยให้ชาวบ้านมาเจาะเลือด และอัลตร้าซาวด์ที่โรงพยาบาลครั้งละ 80 คน มีการบันทึกคำย่อว่า  PDF ซึ่งย่อมาจากคำว่ารอยพังผืดที่เห็นจากการอัลตร้าซาวด์บริเวณรอบท่อน้ำดี จึงนำไปเชื่อมโยงกับผลในห้องทดลอง ที่เกิดการบันทึกไว้กับหนูทดลองเหมือนกัน ว่าเกิดมีพังผืดรอบท่อน้ำดีในหนูทดลอง สิ่งสำคัญต่อจากนี้คือ “จะทำอย่างไรให้คนเชื่อและเข้าใจตรงกัน”

เมื่อผลการดำเนินงานโครงการเพื่อพิสูจน์หากลไกที่ทำให้เกิดพังผืดที่ท่อน้ำดีสำเร็จลง ทางคณะแพทย์จึงได้ให้ทุนวิจัยเพิ่มเติมปีละ 1 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี รวมเป็นเงิน 3 ล้านบาท เพื่อให้ศูนย์วิจัยทำการศึกษาเพิ่มเติมที่ ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยปรับวิธีการวิจัยโดยให้มีการเจาะเลือดที่หมู่บ้าน แต่ยังต้องให้ชาวบ้านเข้ามาอัลตร้าซาวด์ในโรงพยาบาล คณะผู้วิจัยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านที่มารับการคัดกรองกว่า 2,000 คน ก่อนที่จะนำชาวบ้านเข้ามาตรวจอัลตร้าซาวด์ คณะผู้วิจัยต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ก่อน เนื่องจากไม่สามารถให้ชาวบ้านทั้ง 2,000 คนมาที่โรงพยาบาลพร้อมกันได้  โดยร่วมกับแผนกรังสีวินิจฉัย ซึ่งตอนนั้นมีเครื่องอัลตร้าซาวด์อยู่ 4 เครื่อง  จึงเกิดดอนช้างโมเดลขึ้นมา  จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้พบผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี จำนวน 6 คน หนึ่งในนั้นมีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ยอมเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดกับหมอณรงค์  อีก 5 คนไม่ยอมมารักษา ก็ทยอยเสียชีวิตกันไป

เมื่อพบผู้ป่วย ที่ตรวจอัลตร้าซาวด์แล้วพบก้อนเนื้อ ก็เกิดคำถามที่ท้าทายว่า ทำอย่างไรจะคนเหล่านี้ให้มาตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้  โดยต้องใช้ความพยายามหลายอย่าง หลายขั้นตอน กว่าผู้ป่วยจะถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาล อย่างเช่นกรณีคุณลุงประสานที่สุดท้ายไม่สามารถเข้ารับการรักษาตัวได้ตามกระบวนการทางแพทย์ และสุดท้ายต้องเสียชีวิตด้วยอาการแทรกซ้อนหลังได้รับการผ่าตัดแล้ว 1 เดือน ผลจากการรักษาคุณลุงประสานทำให้ชาวบ้านต่อต้านและรู้สึกไม่มั่นใจ ทีมงานต้องฝ่าฟันและทำความเข้าใจกับชาวบ้านใหม่ ไม่นานชาวบ้านก็เริ่มเข้าใจและเริ่มให้ความร่วมมืออีกครั้ง และครั้งนี้หมอณรงค์ก็เริ่มเห็นทิศทาง หลังจากผ่าตัดยายสมัยสำเร็จและรอดชีวิต หลังจากนั้นได้ทำการเผยแพร่ข้อมูลตามงานประชุมวิชาการต่าง ๆ เพื่อยืนยันการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงว่าได้ผลจริง หมอณรงค์เองก็ออกไปหาทุนกับกระทรวง และสปสช. จนได้รับทุนมา 2-3 ล้านเพื่อได้ทำงานต่อ\

“วาระอีสาน” โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ณ ศูนย์ประชุมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และตัวแทนมหาวิทยาลัย คือ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี

จนกระทั่งเกิดมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี ในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 จากความร่วมมือกันของเครือข่ายญาติผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี แพทย์ พยาบาล นักวิชาการและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งท่อน้ำดี โดยมี ผศ.พญ.เนตรเฉลียว สัณฑ์พิทักษ์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นประธาน รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว เป็นรองประธาน และมี ศ.ดร.พวงรัตน์ ยงวณิชย์ เป็นเลขาธิการมูลนิธิฯ วัตถุประสงค์หลักของมูลนิธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่ยากไร้ โดยการสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์ ยารักษาโรค และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ริเริ่ม โครงการ CASCAP ในปีพ.ศ. 2556 โดย ศ.ดร. กนก วงศ์ตระหง่าน อดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งท่านเป็นกรรมาธิการงบประมาณ เสนอความคิดอยากจะให้มหาวิทยาลัยที่อยู่ภูมิภาคได้เสนอโครงการที่สามารถแก้ปัญหาของท้องถิ่นได้ รศ.นพ. ณรงค์ ขันตีแก้ว จึงนำเสนอโครงการแก้ปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อสานต่อจากวาระอีสานเดิม ภายใต้ชื่อ “โครงการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขและการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ซึ่งประกอบด้วย 4 โครงการทั้งทางด้านสุขภาพ การศึกษา และสังคม หนึ่งในนั้นคือโครงการของเราคือ “โครงการแก้ไขปัญหาหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่าCholangiocarcinoma Screening and Care Program; CASCAP”  เป็นโครงการ 5 ปี มีระยะเวลา ตั้งแต่ พ.ศ. 2557-2561 งบประมาณ 430  ล้านบาท โครงการผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 และเริ่มดำเนินการโครงการตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มีการขอความร่วมมือจาก รศ.ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ หรือเรียกชื่อย่อว่า DAMASAC สังกัดคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมโครงการซึ่งถือเป็นจุดเด่นของโครงการฯ เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ ชื่อ CASCAP Tools ภายหลังปรับปรุงเป็น Isan Cohort  สำหรับการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา (epidemiological surveillance) สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงพยาธิใบไม้ตับ  และมะเร็งท่อน้ำดี สำหรับชาวอีสานทุกคนขึ้นมา เพราะ “CASCAP คือฐานข้อมูล”

ปี 2557 การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน ได้ถูกผลักดันโดยสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั้ง เหนือ-ใต้-ออก-ตก จนผ่านระเบียบวาระที่ 2.4 ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557 และเป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งจะทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมมือกันแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และในปี 2558 โรคมะเร็งท่อน้ำดีเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พบผู้ป่วยราว ๆ 14,000 คนต่อปี และโรคนี้มีวิธีเดียวที่จะรักษาให้หายได้คือการผ่าตัดโดยแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคตับและทางเดินน้ำดี

“ศูนย์ความเลิศมะเร็งท่อน้ำดี” ศูนย์กลางความรู้เรื่องการแก้ไขปัญหามะเร็งท่อน้ำดีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ จึงเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2558 ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

 

Facebook Comments Box