สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ประชุมหารือสสอ.หนองเรือ เดินหน้าสู่ “หนองเรือโมเดล” อำเภอต้นแบบแก้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเชิงบูรณาการ

Share to Social

วันที่ 30 มีนาคม 2564 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศาสตราจารย์ นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันฯ พร้อมคณะทำงาน เข้าประชุมหารือร่วมกับบุคลากรภาคการสาธารณสุข ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในอำเภอต้นแบบ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ณ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขอำเภอหนองเรือ จ.ขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจากนายพิชิต แสนเสนา สาธารณสุขอำเภอหนองเรือ เป็นประธานการประชุมหารือฯ ในครั้งนี้ โดยมีบุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในอำเภอหนองเรือ จ.ขอนแก่น เข้าร่วมประชุมกว่า 30 คน

การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในอำเภอต้นแบบ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น หรือ “หนองเรือโมเดล” โดยสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีตั้งเป้าหมายที่จะลดอัตราผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่ต้นแบบให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 1 และค้นหากลุ่มเสี่ยงพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่ผ่านการตรวจคัดกรอง เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงการรักษา

 ศาสตราจารย์ นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยเรามีประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับอยู่กว่า 6 ล้านคน ซึ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงฯ นี้ สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้ในอนาคต ซึ่งโรคมะเร็งท่อน้ำดีนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่คร่าชีวิตพี่น้องประชาชนไทย เกินกว่าครึ่งเป็นพี่น้องชาวอีสาน โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัวที่เป็นกำลังหลักที่ต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ฯ ไปปีละมากกว่า 20,000 คน ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวิถีความเป็นอยู่ของคนในสังคม ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ดำเนินงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีผ่านโครงการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในอำเภอต้นแบบ หรือเรียกกันในชื่อ “โครงการอำเภอต้นแบบ” โดยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือแก้ไขปัญหาดังกล่าวเชิงบูรณาการทุกภาคส่วนในอำเภอ มุ่งหวังลดอัตราการติดพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่ลงให้น้อยกว่าร้อยละ 1 โดยเน้นการรณรงค์และสร้างความตระหนักครอบคลุมทั้งพื้นที่ เพิ่มการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงพยาธิใบไม้ตับจากแอนติเจนในปัสสาวะ จำนวน 4,000 ราย คัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ จำนวน 2,000 ราย เพื่อค้นหาผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีระยะแรกในพื้นที่อำเภอหนองเรือ ให้เข้าสู่การผ่าตัดให้เร็วและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และมุ่งหวังที่จะเพิ่มอัตราการรอดชีพของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่รับการผ่าตัดรักษาในพื้นที่ดำเนินการให้มีอัตราเพิ่มขึ้น โดยอำเภอหนองเรือ เป็นอีกหนึ่งอำเภอต้นแบบเป้าหมายของจังหวัดขอนแก่น ที่ทางสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี และคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 จะเข้ามาขับเคลื่อนดำเนินงานผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเถอ (พชอ.) ร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ ครอบคลุมการทำงานในด้านอาหารจากปลาปลอดภัย การจัดการระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในสถานศึกษา การกำจัดพยาธิใบไม้ตับในสัตว์รังโรค และการรณรงค์สร้างความตระหนักและให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ด้านการป้องกันและเฝ้าระวังการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ เป้าหมายคือให้ประชาชนเข้าใจการตัดวงจรพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี”

นายพิชิต แสนเสนา สาธารณสุขอำเภอหนองเรือ กล่าวว่า “ขอขอบคุณทางสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอย่างสูงที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในพื้นที่อำเภอหนองเรือ โดยพื้นที่อำเภอหนองเรือกว่าครึ่งนั้นติดกับเขื่อนอุบลรัตน์ และอีกครึ่งติดกับลำนำเชิญ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ยังคงมีวิถีการบริโภคอาหารจากปลาดิบอยู๋เป็นจำนวนมาก โดยโรคอันดับ 1 ที่มีการเสียชีวิตมากที่สุด คือ มะเร็งท่อน้ำดี ทางพื้นที่พร้อมดำเนินงานขับเคลื่อนงานในพื้นที่ผ่าน พชต.และผลักดันให้เป็นวาระหลักใน พชอ. โดยในเบื้องต้นสามารถขยายผลการทำงานภายใต้กองทุนสุขภาพตำบลผ่านโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และอาหารปลอดภัยได้”

การแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี นั้นจะขับเคลื่อนให้งานสำเร็จโดยภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ต้องบูรณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกันหลายหน่วยหลายองค์กร เพื่อให้งานสัมฤทธิ์ผลและมีความต่อเนื่องยั่งยืน การจะดำเนินการแต่เพียงในโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางสุขภาพด้วยการตั้งรับเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้ร่วมกันจากต้นน้ำไปจนสุดปลายน้ำอย่างบูรณาการ ตั้งแต่การตัดวงจรชีวิตพยาธิใบไม้ตับ ลดการแพร่กระจายสิ่งปฏิกูลตามแหล่งน้ำ กำจัดพยาธิใบไม้ตับในสัตว์รังโรค จัดการอาหารจากปลาวงศ์ตะเพียนให้อาหารปลอดภัย การเพิ่มภูมิคุ้มกันทางองค์ความรู้และการป้องกันให้แก่เยาวชน การจัดการข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบสามารถติดตามผลได้ การคัดกรองและรักษาตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เมื่อเราสามารถลดอัตราผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับลงได้และสามารถผลักดันให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับการคัดกรองและเข้ารับการรักษาได้แล้ว จะเป็นการช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน”

Facebook Comments Box