CARI ประชุมหารือ สคร.7 เรียนรู้วิธีการใช้งานเครื่องมือบันทึกและติดตามผล OV-RDT เขตสุขภาพที่ 7

Share to Social

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดประชุมเรียนรู้วิธีการใช้งานเครื่องมือบันทึกและติดตามผล OV-RDT ในเขตสุขภาพที่ 7 ณ ห้องประชุม 5102 อาคารเวชวิชชาคาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขตที่ 7 ขอนแก่น (สคร.7) นำโดย พญ.จิรา ศักดิ์ศศิธร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น พร้อมคณะทำงาน โครงการพัฒนาเครือข่ายตามยุทธศาสตร์การกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อจัดทำแผนที่ทางระบาด การรักษา การเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและติดตามผลการดำเนินงานในระยะที่ 2 ( 2562-2568 ) เขตสุขภาพที่ 7 จำนวน 10 คน

โดย น.ส.สุปราณี วรพันธ์ ผู้จัดการโครงการ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้เปิดการประชุมและชี้แจงวัตถุประสงค์การดำเนินโครงการ โดยโครงการวิจัยร่วมกับ สคร.7 ครั้งนี้ ประกอบไปด้วยกิจกรรมย่อย จำนวน 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 จัดทำแผนที่ระบาดของการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ (Mapping) ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 โดยการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับจากปัสสาวะอย่างเร็ว OV-RDT ใช้ รูปแบบการวิจัย เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบตัดขวาง (Cross-sectional descriptive study) กิจกรรมที่ 2 ประสิทธิผลของการรักษาผู้ติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับ ด้วยยาพราชิควอนเทล (Praziquantel) ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 ใช้รูปแบบการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental research) กิจกรรมที่ 3 เปรียบเทียบความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมการป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่ที่มีความชุกสูงและพื้นที่ที่มีความชุกต่ำ ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวาง (Analytical cross-sectional study) กิจกรรมที่ 4 รูปแบบการติดตามและประเมินผลความสำเร็จของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 ระยะที่ 2 (ปี 2562 – 2568) เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) โดยในกิจกรรมที่ 1 นั้น ได้เริ่มดำเนินการจัดทำแผนที่ระบาดของการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ (Mapping) ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 โดยการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับจากปัสสาวะอย่างเร็ว OV-RDT ซึ่งปัจจุบันข้อมูลจากการตรวจคัดกรองฯ จากพื้นที่ได้ถูกกรอกข้อมูลเข้ามาผ่าน Application OV RDT และได้เชื่อมเข้ามาในระบบ Isan Cohort บ้างแล้ว โดยได้มีการหารือถึงแนวทางการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานประเด็นดังกล่าว ซึ่งได้มีสะท้อนภาพการทำงานที่ผ่านมาและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานในทุกประเด็น เพื่อที่จะทำให้การทำงานในประเด็นดังกล่าว มีประสิทธิภาพมากที่สุด

จากนั้น ดร.ชัยวัฒน์ ทะวะรุ่งเรือง โปรแกรมเมอร์อาวุโส ศูนย์ DAMASAC และคณะฯ ได้ชี้แจงและแนะนำเครื่องมือระบบ Isan cohort การใช้งานเพื่อบันทึกข้อมูล และติดตามผลรายพื้นที่ การรายงานผลโครงการ Mapping OV ในภาพรวม แนะนำการใช้งานระบบ โดยได้เปิดโอกาสให้คณะวิจัยจาก สคร.ได้ซักถามและหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน พร้อมกันนี้ได้เปิดโอกาสให้ทีมพัฒนา Application OV RDT นำโดย อ.ดร.ธนพงศ์ อินทระ และ อ.ดร.เปรม จันทร์สว่าง สาขาวิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มข. และคณะทำงาน ได้อธิบายการทำงานนำเข้าข้อมูลผลการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ ผ่าน Application OV RDT โดยได้เก็บรวบรวมข้อเสนอแนะจากการทำงานร่วมกับพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัดมาพัฒนาต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากนั้น ศ.ดร.ไพบูลย์ สิทธิถาวร หัวหน้าโครงการวิจัย Re-OV ได้ชี้แจงรายละเอียดรูปแบบการทำงานและภาพรวมการทำงานของชุดตรวจ OV RDTในพื้นที่ พร้อมกันนี้ได้เปิดโอกาสให้คณะนักวิจัยได้ซักถามข้อมูลและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการทำงานชุดตรวจ การแปรผล พร้อมทั้งสะท้อนภาพการทำงานที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จากนั้น น.ส.สุปราณี วรพันธ์ ได้สรุปการประชุมหารือการทำงานในครั้งนี้และปิดการประชุม

 

ภาพ/ข่าว : นายปณิธาน ศรีบุญเรือง

Facebook Comments Box