CARI จับมือเขตสุขภาพที่ 2 ตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีเชิงรุก จ.อุตรดิตถ์

Share to Social

วันที่ 5 เมษายน 2565 โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ Fluke Free Thailand ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการฯ ร่วมกับ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 2 กระทรวงสาธารณสุข สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (NCI) ศูนย์ความเป็นเลิศมะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี และชมรมศัลยศาสตร์ตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดีแห่งประเทศไทย (THPBS) ร่วมจัดงาน “การตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2565” ในวันที่ 5 เมษายน 2565 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้นด้วยวิธีการตรวจอัลตราซาวด์เข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี นายแพทย์อายุส ภมะราภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ กล่าวรายงานกิจกรรม

โดย นายแพทย์อายุส ภมะราภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ กล่าวว่า “ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลัก 11 แห่งทั่วประเทศ มีจำนวนกว่า 2,000 รายต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับประชากรวัยทำงานที่เป็นหัวหน้าครอบครัวอายุระหว่าง 40-60 ปี และพบผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้นจากการคัดกรอง เข้ารับการรักษามีแนวโน้มที่สูงขึ้นทุกปี โดยในกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ จากเดิมหากไม่รับการรักษาจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1 ปี แต่หากเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีในระยะต้นจะพบว่ามีอัตราการรอดชีพมากกว่า 5 ปี ถึงร้อยละ 45
ประเทศไทยได้พยายามกำจัดปัญหาสุขภาพนี้อย่างจริงจัง โดยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี โดยดำเนินการผ่านโครงการปลอดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อคนไทยสุขภาพดีในปี 2568 ตามยุทธศาสตร์ทศวรรษ การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568 ซึ่งมีการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จัดการสิ่งแวดล้อม สัตว์รังโรคการผลิตอาหารปลอดภัยปลอดโรค การตรวจคัดกรองผู้ป่วยระยะเริ่มต้นเข้าสู่การรักษา และพัฒนาทีมในการดูแลรักษา
จังหวัดอุตรดิตถ์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงกำหนดให้มีการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยได้มีการระดมแนวคิดของตัวแทนจากทุกภาคส่วน นำมาวางแผนดำเนินการแก้ไขปัญหา ทั้งในระดับปฐมภูมิ คือการสร้างเกราะป้องกันการเกิดโรค ระดับทุติยภูมิ คือการเฝ้าระวังคัดกรองลดปัจจัยในการเกิดโรค และระดับตติยภูมิ คือการแก้ไขปัญหารักษาเยียวยาลดความสูญเสียของการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีในชุมชน โดยขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก โครงการวิจัยท้าทายไทย : Fluke Free Thailand สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยถือมหกรรมรณรงค์เพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีนี้เป็นการ Kick off ในจังหวัดอุตรดิตถ์ และหวังก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายและพัฒนาความร่วมมือทั้งส่วนราชการและเอกชน สร้างแรงขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างบูรณาการและยั่งยืน และพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบต่อไป โดยการจัดมหกรรมครั้งนี้ เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยอัลตราซาวด์ให้แก่ประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ กว่า 500 คนละ แมีการให้ความรู้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีแก่อาสาสมัครสาธารณสุขและนักเรียน ทั้งการบรรยายและนิทรรศการ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการดำเนินการครั้งนี้กว่า 100 คน”

นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า “โรคมะเร็งท่อน้ำดี ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่พบอุบัติการณ์การเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องในประชากรวัยทำงานที่เป็นหัวหน้าครอบครัวอายุระหว่าง 40-60 ปี ทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ เสียโอกาสในการทำงาน กลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งปัจจัยหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคปลาน้ำจืด มีเกล็ดแบบสุกๆ ดิบๆ โดยการปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นสาเหตุทำให้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ และนำไปสู่การเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ปัจจุบันภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้อย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศเป็นแผนยุทธศาสตร์ กำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี พ.ศ. 2559-2568 เพื่อจะจัดการกับปัญหาสุขภาพนี้ให้หมดไปจากประเทศไทย
ด้วยนวัตกรรมในการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในปัจจุบันทำให้เราสามารถค้นพบผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้น ที่ยังไม่แสดงอาการให้เข้ารับการรักษาปีละกว่า 2,000 ราย ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีผลลัพธ์ของการรักษาด้วยการผ่าตัดให้หายขาดที่ดีและน่าพอใจ มีอัตรารอดชีพมากกว่า 5 ปี กว่าร้อยละ 45 ซึ่งการแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้ คงกระทำให้สำเร็จโดยภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่าย บูรณาการแก้ไขปัญหาให้สัมฤทธิ์ผลและต่อเนื่อง ซึ่งจะดำเนินการแต่เพียงในโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางสุขภาพด้วยการตั้งรับเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการบูรณาการทุกมิติอย่างยั่งยืนเราทุกฝ่าย จึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้ จากต้นน้ำไปจนสุดปลายน้ำอย่างบูรณาการ ซึ่งก็คือการกำจัดพยาธิใบไม้ตับ ลดการแพร่กระจายตามแหล่งน้ำ กำจัดพยาธิใบไม้ตับในสัตว์รังโรค จัดการอาหารให้ปลอดภัย เพิ่มภูมิคุ้มกันทางปัญญาแก่เยาวชน จัดการข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบสามารถติดตามได้ การคัดกรองและรักษาตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน”

ต่อมาประธานในพิธี ได้มอบเกียรติบัตรให้กับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการในครั้งนี้ จากนั้นประธานในพิธีพร้อมด้วยคณะผู้บริหารได้เข้าเยี่ยมชมการจัดนิทรรศการให้ความรู้ในการรณรงค์ป้องกันกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ของโครงการวิจัยภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) อาทิ การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับด้วยแอนติเจนในปัสสาวะ, การจัดการระบบสุขาภิบาลและสิ่งปฏิกูล, การใช้หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนเพื่อพัฒนาภูมิคุ้มกันในเยาวชน, อาหารปลอดภัย ปลาปลอดพยาธิ และระบบฐานข้อมูล Isan cohort

จากการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) เกิดผลสำเร็จเป็นอย่างมากในการทำวิจัยและการนำผลไปใช้ในพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อประเทศ ได้แก่ 1) ลดอัตราผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในกลุ่มเสี่ยงจากร้อยละ 42.8 เป็นร้อยละ 13.4 และขณะนี้ลดลงเหลือร้อยละ 7.7 เท่ากับลดลง 6 เท่า 2) เพิ่มการเข้าถึงการรักษา โดยจำนวนผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้นสามารถเข้ารับการผ่าตัดเพิ่มจากร้อยละ 21.8 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 84.5 เท่ากับเพิ่มขึ้น 4 เท่า และ3) ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี โดยอัตราการรอดชีพใน 5 ปีของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเพิ่มจากร้อยละ 17.3 เพิ่มเป็นร้อยละ 48.3

โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาสำคัญให้กับประเทศอย่างแท้จริง และทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่เกี่ยวข้องกับโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ อย่างทันเวลา เท่าเทียม มีคุณภาพ และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยการขจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีนั้น จะกระทำให้สำเร็จโดยภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาให้สัมฤทธิ์ผลและต่อเนื่อง การจะดำเนินการแต่เพียงในโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางสุขภาพด้วยการตั้งรับเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้ร่วมกัน สอดรับกับอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ยึดถือการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการอุทิศเพื่อสังคม สร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะภาคอีสานให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีลงให้เหลือน้อยที่สุด

อัลบั้มประมวลภาพกิจกรรม  >> https://rb.gy/uf9653

ภาพ : ปณิธาน ศรีบุญเรือง/วันชัย กาญจนสุรัตน์
ข่าว : ปณิธาน ศรีบุญเรือง