กรมควบคุมโรค เยี่ยมชมการทำงาน CARI พร้อมหารือการคัดกรองพยาธิใบไม้ตับด้วย OV-RDT

Share to Social

วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะทำงานส่วนต่างๆ จากกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น พร้อมคณะทำงาน เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีและเข้าร่วมหารือแนวทางความร่วมมือในการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับจากแอนติเจนในปัสสาวะและการทำงานชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-RDT) ณ ห้องประชุม 5102 อาคารเวชวิชชาคาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม เลขานุการสถาบันฯ และ ศ.ดร.ไพบูลย์ สิทธิถาวร หัวหน้าทีมวิจัย OV-RDT มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 30 คน

การประชุมหารือในครั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีของสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี โดยได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะการสอดประสานความร่วมมือกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น ผ่านการทำงานในรูปแบบชุดโครงการวิจัย จำนวน 4 ชุดโครงการ ได้แก่ 1) โครงการศึกษาแผนที่ระบาดของการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ (Mapping) ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 โดยการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับจากปัสสาวะอย่างเร็ว OV-RDT 2) โครงการศึกษาประสิทธิผลของการรักษาผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ(Opisthorchiasis) ด้วยยาพราซิควอนเทล (Praziquantel) ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 3) โครงการศึกษาความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับของประชาชน เขตสุขภาพที่ 7 และ 4) โครงการศึกษารูปแบบการติดตามและประเมินผลความสำเร็จของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 ระยะที่ 2 (ปี 2562 – 2568) โดยมีพื้นที่การดำเนินงานในเขตพื้นที่ดูแลของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ โดยการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ ดำเนินการผ่าน ชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับจากปัสสาวะอย่างเร็ว OV-RDT มีการบันทึกข้อมูลผลตรวจผ่าน Mobile Application OV-RDT และเก็บข้อมูลในระบบฐานข้อมูล Isan Cohort ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) บันทึกข้อมูลและติดตามผลการตรวจรักษาได้แบบ Realtime จากนั้น ศ.ดร.ไพบูลย์ สิทธิถาวร หัวหน้าทีมวิจัย OV-RDT ได้บรรยายแนวทางและหลักการทำงานของการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ และการทำงานของชุดตรวจ OV RDT พร้อมผลการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ ในเขตสุขภาพที่ 7 ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น 

นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประกาศแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559–2568 ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 โดยมีเป้าหมายลดอัตราเสียชีวิตด้วยมะเร็งท่อน้ำดีลงครึ่งหนึ่ง มีอัตราการติดพยาธิใบไม้ตับในคนลดลงน้อยกว่าร้อยละ 1 ในปี 2568 และปลาปลอดพยาธิน้อยกว่าร้อยละ 1 โดยประเด็นในการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับนั้น กรมควบคุมโรคได้มีความสนใจในกระบวนการตรวจฯ ด้วยชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-RDT) เพราะสามารถเข้าถึงเป้าหมายได้ง่าย สะดวกต่อบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนกลุ่มเสี่ยง สามารถตรวจคัดกรองประชาชนได้ในปริมาณเยอะในเวลาสั้น และขยายผลการตรวจในวงกว้างได้เร็ว อันจะทำให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับได้อย่างทั่วถึง”

ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี กล่าวว่า”สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มาตั้งแต่ยังเป็นศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เราพยายามผลักดันประเด็นดังกล่าวเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2557 และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) สู่ “แผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559–2568” โดยมีมาตรการ 5 มาตรการและ 5 แผนยุทธศาสตร์ (รายละเอียดแผนยุทธศาสตร์ > https://rb.gy/evocc1 <) โดยในปัจจุบันได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 7 จับมือกับ กขป.7 ขับเคลื่อนงานผ่านโครงการอำเภอต้นแบบร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ กระจายการทำงานลงพื้นที่ผ่านโครงการอำเภอต้นแบบแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี กว่า 21 อำเภอในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ช่วยกันตัดวงจรชีวิตพยาธิใบไม้ตับและทำงานในพื้นที่ในประเด็นต่างๆ อาทิ อาหารปลอดภัยปลาปลอดพยาธิ การจัดการสิ่งปฏิกูล การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับและคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี การรักษาและติดตามผล รวมถึงการพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับการขับเคลื่อนงานดังกล่าว โดยมีการบันทึกข้อมูลในฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในระบบ Isan Cohort (https://cloud.cascap.in.th) ซึ่งปัจจุบัน มีคนลงทะเบียนกว่า 3 ล้านราย ผลจากการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 ทำให้อัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับลดลงจาก 42.8% เหลือ 1.06% และผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี ในระยะแรกที่เข้ารับการผ่าตัดรักษาเพิ่มขึ้นจาก 21.8% เป็น 84.5% และอัตราการรอดชีพ 5 ปี ของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีหลังการผ่าตัด เพิ่มขึ้นจาก 17.3% เป็น 55% คาดหวังร่วมกันว่าภายในระยะเวลาของการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ จะบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

ภาพ : วันชัย กาญจนสุรัตน์/ปณิธาน ศรีบุญเรือง
ข่าว : ปณิธาน ศรีบุญเรือง

 

 

Facebook Comments Box