ความเป็นมาของ Fluke Free Thailand

Share to Social

กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มประกาศนโยบายเกี่ยวกับการกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา โดยให้มีการตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดีควบคู่กันไป จากนั้นในวันที่ 17 เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวัน “World Cholangiocarcinoma Day” โดยความร่วมมือของภาคีต่าง ๆทั่วโลก เช่น กองทุน AMMF ประเทศอังกฤษ มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี ประเทศไทย และ Cholangiocarcinoma Foundation ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อยกความสำคัญของโรคนี้ให้ผู้คนได้ตระหนักและร่วมมือกันแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 นพ.อำนวย  กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อพัฒนาความร่วมมือเพื่อดำเนินงานใน “โครงการกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี” โดยมีเป้าหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี และดำเนินกิจกรรมการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับและให้การรักษาในประชาชนจำนวน 76,000 ราย รวมทั้งการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดีจำนวน 135,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 27 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 1, 6, 7, 8, 9 และ 10 ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคตะวันออก โดยจะมีการบันทึกข้อมูลในฐานข้อมูล ที่เรียกว่า Isan-cohort ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและทันเวลา และผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการนำไปวางแผนและนโยบายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน

ในเวลาต่อมา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประกาศให้ทุนวิจัยท้าทายไทย ภายใต้โครงการท้าทายไทย “Fluke Free Thailand” แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559 โดยมีนักวิจัยจาก CASCAP ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมือกันดำเนินงาน กำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี โดยมีระยะเวลา 1 ปีในการดำเนินงานโครงการวิจัย

โครงการท้าทายไทย “Fluke Free Thailand” ในครั้งนี้เป็นการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีแบบครบวงจรตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ประกอบด้วย

โครงการที่ 1 “อาหารปลอดภัย : ปลาปลอดพยาธิ”  โดย ศ.สพ.ญ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในปลาและหอยในพื้นที่ที่มีการระบาด 84 อำเภอ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเหนือของประเทศไทย และเพื่อให้มีแบบผลิตภัณฑ์ปลาปลอดพยาธิได้ เพื่อลดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ

โครงการที่ 2 “การรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับชนิด Opisthorchis viverrini ในสุนัขและแมวแบบกลุ่ม” โดย ผศ. นสพ. สุรสิทธิ์ อ้วนพรม ภาควิชาพยาธิชีววิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์ เพื่อรักษาพยาธิใบไม้ตับชนิด Opisthorchis viverrini ในสุนัขและแมวในหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่ระบาด 84 อำเภอ 110 หมู่บ้านของประเทศไทย

โครงการที่ 3 “แผนภูมิความชุกและระบาดวิทยาของโรคพยาธิใบไม้ตับ ใน 27 จังหวัดของประเทศไทย: การประยุกต์ใช้การตรวจวินิจฉัยวิธีใหม่ในการกำจัดพยาธิในชุมชนต้นแบบ” โดย ศ.ดร.ไพบูลย์ สิทธิถาวร  ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแผนภูมิการระบาดของพยาธิใบไม้ตับเชิงพื้นที่ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยหารูปแบบการกระจายอัตราชุกและความหนาแน่นของพยาธิใบไม้ตับจากการตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิวิธีใหม่ (Parasep stool kit) ผสมผสานกับการตรวจปัสสาวะเพื่อหาโปรตีนจากสารคัดหลั่งของพยาธิในชุมชนต้นแบบใน 152 หมู่บ้านของ 84 อำเภอใน 27 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคกลาง จนสามารถประยุกต์ใช้การตรวจโปรตีนในปัสสาวะเพื่อวินิจประเมินหาอัตราชุกและความหนาแน่นของพยาธิในระยะยาวเปรียบเทียบกับวิธีการตรวจอุจจาระวิธี Parasep stool kit และ quantitative FECT ตลอดทั้งติดตามผลการให้ยา praziquantel ต่อระบาดของพยาธิใบไม้ตับในประชากรกลุ่มเดิม (cohort population)  จำนวน 15,000 คน เพื่อติดตามความหนาแน่น การติดเชื้อซ้ำ การติดเชื้อใหม่โดยใช้การตรวจปัสสาวะเป็นเกณฑ์ตัดสิน และจัดทำฐานข้อมูลระบาดวิทยาของพยาธิใบไม้ตับระยะยาวใน  Isan cohort

โครงการที่ 4 “การจัดระบบสุขาภิบาลเพื่อกำจัดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ” โดย ดร.ฤทธิรงค์ จังโกฏิ สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและจัดทำฐานข้อมูลการจัดการสิ่งปฏิกูลของชุมชนเป้าหมาย ศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดการสิ่งปฏิกูลของชุมชนเป้าหมายโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม และส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมรูปแบบที่เหมาะสมในการจัดการสิ่งปฏิกูลในชุมชนเป้าหมายเพื่อให้เป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการสิ่งปฏิกูลเพื่อกำจัดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ

โครงการที่ 5 “การพัฒนาและบำรุงรักษาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับ การเฝ้าระวังพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Isan Cohort)” โดย รศ.ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ ศูนย์บริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ (Data Management and Statistical Analysis Center: DAMASAC) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ ชื่อ Isan Cohort สำหรับการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา (epidemiological surveillance) สำหรับพฤติกรรมเสี่ยง พยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี สำหรับชาวอีสานทุกคน โดยใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และไม่มีพรมแดนของเขตผู้ให้บริการ โดยให้สามารถใช้งานบนอินเตอร์เน็ต แบบ real time และสามารถติดตามผลได้ในระยะยาว และดำเนินการใช้งาน ติดตามประเมินผล พัฒนา และบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ Isan Cohort เพื่อจัดการข้อมูล ที่ได้จาก Isan Cohort วิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำรายงาน เพื่อการให้บริการที่ทั่วถึง สอดคล้องกับลักษณะปัญหา และทันเวลา

โครงการที่ 6 “หลักสูตรเกี่ยวกับโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในโรงเรียนและประชาชนทั่วไป” ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดย รศ.ดร.ธีรชัย เนตรถนอมศักดิ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำและนำหลักสูตรเกี่ยวกับโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีไปใช้ในโรงเรียน และเพื่อผลิตสื่อให้ความรู้ในเรื่องของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีไปใช้ในประชาชนทั่วไป

โครงการที่ 7 “การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดี โดย ศ.พญ.นิตยา ฉมาดล  ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์ เพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดีด้วยวิธีอัลตร้าซาวด์ จำนวน 100,000 คน ใน 27 จังหวัด รวมทั้งนำผู้สงสัยว่าเป็นมะเร็งท่อน้ำดีจากการตรวจคัดกรองเข้าสู่ระบบการตรวจยืนยันและการรักษา และติดตามเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงสูงเพื่อให้สามารถตรวจพบผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มแรกที่ยังไม่ปรากฎอาการทางคลินิกให้สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็วทันการณ์

โครงการที่ 8 “การศึกษาแบบสุ่มของการรักษาเสริมด้วยเคมีบำบัดสองขนานระหว่าง cisplatin และ gemcitabine เปรียบเทียบกับ gemcitabine ในผู้ป่วยผู้ใหญ่โรคมะเร็งท่อน้ำดี” โดย ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ  ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีเข้าถึงการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ศึกษาระยะเวลาการรอดชีวิตโดยรวม (median overall survival time) ในผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่ได้รับการรักษาเสริมด้วยเคมีบำบัด (adjuvant chemotherapy) เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และศึกษาระยะเวลาการปลอดโรค (disease-free survival rate) ในผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่ได้รับการรักษาเสริมด้วยเคมีบำบัด (adjuvant chemotherapy) เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม

โครงการที่ 9 “การวิจัยเชิงนโยบายด้านผลกระทบของการดำเนินงานโครงการท้าทายไทยต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี” โดย ผศ.ดร.พัชรี สุริยะ  ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร  คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อศึกษาผลกระทบของการดำเนินงานโครงการท้าทายไทยต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี

โครงการที่ 10 “การศึกษาทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี”  โดย รศ.ดร. ประสิทธิ์ คุณุรัตน์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในเชิงของด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบยั่งยืน

โครงการที่ 11 ระบบภูมิสารสนเทศโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย” โดย ผศ.ดร.รัศมี สุวรรณวีระกำธร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) https://www.viagrasansordonnancefr.com/viagra-achat/ สร้างฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2) เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางด้านภูมิสารสนเทศกับการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
3) เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อการเกิดโรคและความชุกพยาธิใบไม้ตับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
4) เพื่อพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีออนไลน์

ทั้งนี้โครงการวิจัยท้าทายไทย: Fluke Free Thailand สามารถจะสร้างผลสัมฤทธิ์ตามแผนของโครงการได้ต้องอาศัยการประสานความร่วมมือการทำงานวิจัยจากโครงการทั้งหมด 10 โครงการ รวมทั้งประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักยังประกอบด้วยคณะทำงานที่มีความเชี่ยวชาญทุกๆด้านที่มาจากคณะวิชาต่างๆ ได้แก่คณะแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น ให้มาร่วมดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีแบบครบวงจรและบูรณาการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ และมีระบบการเก็บและบริหารจัดการข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถให้เกิดการติดตามและประมวลผลการทำงานได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ 

⇑ กลับขึ้นด้านบน

Facebook Comments Box