สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีจับมือคณะศึกษาศาสตร์ มข. อบรมครู จ.ขอนแก่น ถ่ายทอดหลักสูตรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี นำสู่การลงสอนนักเรียน

Share to Social

​วันที่ 6 สิงหาคม 2563 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม กรรมการและเลขานุการสถาบันฯ ร่วมกับ โครงการหลักสูตรเกี่ยวกับโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีไปใช้ในโรงเรียน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ลัดดา ศิลาน้อย ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การนำหลักสูตรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในเขตภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่การปฏิบัติในชั้นเรียน อำเภอบ้านแฮด และอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น” ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ โดย สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ ห้องภูพาน โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 2 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 ส่งครูในสังกัดเข้าร่วมโครงการ กว่า 171 คน แบ่งเป็น ครูระดับประถมศึกษา 118 คน ครูระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 43 คน และครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 10 คน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.อนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ขอนแก่น เขต 2 เป็นประธานในพิธีเปิด

ดร.อนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์ กล่าวว่า “เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า โรคมะเร็งท่อน้ำดี เป็นปัญหาที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มีอุบัติการณ์การเสียชีวิตในประชากรวัยทำงานจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการสูญเสียในทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือซึ่งภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้มาอย่างต่อเนื่องผมเชื่อว่าการแก้ไขปัญหานี้ คงกระทำให้สำเร็จโดยภาคส่วนสาธารณสุขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่าย บูรณาการการแก้ไขปัญหาให้สัมฤทธิ์ผลและต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้ จากต้นน้ำไปจนสุดปลายน้ำ ซึ่งก็คือการกำจัดพยาธิใบไม้ตับ ลดการแพร่กระจายตามแหล่งน้ำ กำจัดพยาธิใบไม้ตับในสัตว์รังโรค จัดการอาหารให้ปลอดภัย เพิ่มภูมิคุ้มกันทางปัญญาแก่เยาวชน จัดการข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบสามารถติดตามได้ การคัดกรองและรักษาตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน โดยการสร้างความตระหนักรู้แก่เด็กและเยาวชน เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการตัดวงจรของการเกิดปัญหา โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ด้วยการทำให้เด็กและเยาวชน มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคอาหารแบบดิบ และมีพฤติกรรมในการรับประทานที่ปลอดภัย จากนั้นขยายพฤติกรรมนี้ไปยังครอบครัวและบุคคลรอบข้าง ซึ่งหากขยายผลไปได้ทุกครอบครัว จะส่งผลให้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีนี้หมดไปในอนาคต”

รศ.วัชรินทร์ ลอยลม กล่าวว่า “โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเป็นปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนมาอย่างยาวนานซึ่งประเทศไทยได้พยายามกำจัดปัญหานี้มาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี โดยดำเนินการผ่านโครงการปลอดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเพื่อคนไทยสุขภาพดีในปี 2568 ตามยุทธศาสตร์ทศวรรษการกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีปี 2559-2568 โดยมีเป้าหมายให้พยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีให้หมดไปจากประเทศไทยให้ได้ภายใน 10 ปี

โดยกระบวนการทำงานนั้นได้มีการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จัดการสิ่งแวดล้อม สัตว์รังโรค การผลิตอาหารปลอดภัยปลอดโรค การตรวจคัดกรองผู้ป่วยระยะเริ่มต้นเข้าสู่การรักษา และพัฒนาทีมในการดูแลรักษา ซึ่งเป็นประเด็นที่สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ ร่วมดำเนินงานผลักดันและสนับสนุนการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านทรัพยากรต่างๆ ทั้งองค์ความรู้ เทคนิค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ตลอดจนงบประมาณ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ศูนย์ประสานงานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 (กขป.7) ที่เป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย บูรณาการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืนและครอบคลุมวงจรการเกิดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี โดยมีประเด็นการขับเคลื่อน 6 ประเด็นหลักคือ

  1. สร้างการรับรู้และความตระหนักในโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี
  2. สร้างความรอบรู้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในเด็กและเยาวชน
  3. อาหารปลอดภัย: ปลาปลอดพยาธิใบไม้ตับ
  4. สัตว์รังโรคปลอดพยาธิใบไม้ตับ
  5. การตรวจคัดกรองและการรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี และ
  6. พัฒนาระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างยั่งยืน

ประเด็นการสร้างความรอบรู้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในเด็กและเยาวชนเป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งในการแก้ปัญหา ที่จะตัดวงจรการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีได้ตั้งแต่ต้นทาง จากการที่เด็กและเยาวชนได้รับความรู้อย่างถูกต้อง จนเกิดเป็นความตระหนักในที่สุด ซึ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาและขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในอำเภอบ้านแฮดและอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ด้วยความร่วมมือกันของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยใช้อำเภอบ้านแฮดและอำเภอบ้านไผ่เป็นต้นแบบ

โดยกิจกรรมการฝึกอบรมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม 2563 โดยมีทั้งการบรรยายให้ความรู้เรื่องพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในประเด็น ความสำคัญและแนวทางการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี กระบวนการก่อมะเร็งท่อน้ำดีที่เกิดจากพยาธิใบไม้ตับ การป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและนวัตกรรมในการตรวจคัดกรอง โรคมะเร็งท่อน้ำดีและการรักษาในยุค 4.0 และมีการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้และสาธิตการสอน (แยกกลุ่ม) และมีสาธิตการทำสื่อประกอบการสอนและฝึกการปฏิบัติการทำสื่อ ตามระดับชั้น โดยวิทยากรจากคณะแพทยศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

[modula id=”4158″]

[wp_show_posts id=”2850″]

Facebook Comments Box