กว่าจะมีวันนี้ .. “ก่อนเริ่ม” CASCAP

Share to Social

1400x690

กว่าจะถึงวันนี้ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและ มะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เสนอขอ โดยมีเป้าหมายให้พยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีหมดไปจากประเทศไทยภายใน 10 ปีให้ได้นั้น ผู้เกี่ยวข้องทั้งนักวิจัย ทีมแพทย์ พยาบาลและผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างมุ่งมั่น ทำหน้าที่ ทำงานของตัวเองอย่างไม่ย่อท้อ จนถือได้ว่าวันเวลาที่ผ่านมานั้น ล้วนมีคุณค่าแก่การจดจำและมีความหมายต่อหัวใจของทุกคน หากเมื่อมองย้อนกลับไปดูเส้นทางแห่งความสำเร็จ แรกเริ่มของปัญหา กว่า 100 ปี ของอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งท่อน้ำดี จากวันที่ชีวิตต้องตายไปด้วยความไม่รู้ที่มาที่ไป จนกระทั่ง การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ปรากฏขึ้น จากกลุ่มคนเล็กๆส่งต่อถึงผู้คนอีกมากมายที่เป็นทั้งกลุ่มเสี่ยงและผู้คนที่ต้องเผชิญอยู่กับโรคที่รุมเร้า เมื่อกว่ารู้ตัวก็มักจะสายเกินแก้ และตายกับตายเพียงเท่านั้น

จากการศึกษาค้นคว้าวิจัยย้อนกลับไปครั้งแรกในปี ค.ศ.1889 (พ.ศ.2459) โดย Poirier  ซึ่งพบเชื้อพยาธิใบไม้ตับในชะมด ที่อาศัยในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และตายในสวนสัตว์ของเมืองปารีสและต่อมาใน ปีพ.ศ.2458 พยาธิใบไม้ตับ O. viverrini ถูกพบในคนครั้งแรก โดย Kerr ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ชันสูตรศพนักโทษในจังหวัดเชียงใหม่ของประเทศไทย และถูกรายงานโดย Leiper ในวารสาร Journal of the Royal Army Medical Corps ของประเทศอังกฤษ

ทำให้เกิดความคิดถึงความเป็นไปได้ว่า พยาธิใบไม้ตับมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับโรคมะเร็งท่อน้ำดี จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2470 พบผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี ชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งพบว่ามีพยาธิใบไม้ตับในท่อน้ำดีที่เป็นมะเร็งขณะทำการชันสูตรศพ ขณะนั้นสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีใครคาดคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะเนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีส่วนใหญ่นั้นอยู่ในระยะสุดท้ายเมื่อมาพบแพทย์และมักไม่ได้รับการรักษาแบบผ่าตัด และในปีพ.ศ. 2508 Wykoff และคณะ ได้ศึกษาค้นคว้าและรายงานพบว่าปลาน้ำจืดเกล็ดขาววงศ์ปลาตะเพียน (Cypinoid fish) เป็นโฮสต์กึ่งกลางของพยาธิใบไม้ตับระยะติดต่อ โดยพบตัวอ่อนพยาธิระยะเมตาเซอร์คาเรียอาศัยอยู่ใต้เกล็ดปลา  จากนั้นจึงมีการศึกษาวงจรชีวิตของหอย ปลา สุนัข แมว และคน

ในปีพ.ศ. 2513 พบการติดต่อของพยาธิใบไม้ตับสู่คน โดยการรับประทานปลาน้ำจืดเกล็ดขาววงศ์ปลาตะเพียนแบบดิบ ๆ สุกๆ ซึ่งปลาเหล่านี้ล้วนอาศัยอยู่ตามห้วย หนอง คลอง บึง และพบว่าพยาธิใบไม้ตับสามารถอาศัยอยู่ในท่อน้ำดีของคนได้ถึง 20-30 ปี โดยยังไม่มีใครทราบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งท่อน้ำดี

ต่อมาในปีพ.ศ. 2515 Prasongwatana และคณะ รายงานว่า อาหารที่ทำจากปลาวงศ์ตะเพียนได้แก่ ก้อยปลา และปลาที่ผ่านการหมักเพียง 3 วัน เช่นปลาส้มและปลาจ่อม หรือปลาร้าที่หมักไม่ถึง 1 เดือน มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ

“ผ่าก็ตาย ไม่ผ่าก็ตาย” เป็นวลีติดปากในปี 2527 ซึ่งประชาชนทั่วไปยังมีความเชื่อผิดๆ ในการรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์มักอยู่ในระยะสุดท้ายของโรคแล้ว คือมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และคันบริเวณใต้ผิวหนังทั่วร่างกาย การรักษาจึงทำได้เพียงแค่การประคับประคอง แต่ไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ จำนวนผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี ทวีจำนวนมากขึ้น ด้วยความไม่รู้และไม่เท่าทันในสาเหตุของโรค แม้ว่าในปีพ.ศ. 2530 จะมีการรณรงค์ “อีสานไม่กินปลาดิบ” โดยชมรมแพทย์ชนบทอีสาน แล้วก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีไม่ได้ลดน้อยลงตามจำนวนพยาธิ เนื่องจากความเข้าใจผิดในการกินยาถ่ายพยาธิพราซิควอนเทล การรณรงค์จึงเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่สร้างความเข้าใจแบบผิด ๆถูก ๆในการดูแลตัวเองของชาวบ้านกลุ่มเสี่ยง ให้มีพฤติกรรมที่เสี่ยงมากยิ่งขึ้น นั่นคือการกินก้อยปลาดิบ แล้วกินยาถ่ายพยาธิซ้ำๆจนเยื่อบุท่อน้ำดีเกิดการอักเสบเรื้อรัง จนสามารถพัฒนากลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีได้ภายในเวลาต่อมาอีก 20 – 30 ปี

ในปี 2537  องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (The International Agency for Research on Cancer หรือ IARC) ได้รายงานว่า การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ O. viverrini ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านอีสาน ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลอุบัติการณ์การระบาดของพยาธิใบไม้ตับในขอนแก่นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ กับอุบัติการณ์ผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีในจังหวัดขอนแก่นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการคำนวณทางสถิติ และมีการเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ เกิดข้อสรุปว่า  ผู้ที่ติดพยาธิใบไม้ตับจะมีโอกาสเป็นมะเร็งท่อน้ำดีได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรกลุ่มเสี่ยง ถึงแม้ว่าชาวบ้านและนักวิจัยบางส่วนยังไม่ค่อยเชื่อถือในข้อมูลดังกล่าวมากนัก   จนกระทั่งเกิดข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ให้หนูทดลองกินพยาธิใบไม้ตับและสารก่อมะเร็งที่มีระดับไม่สามารถก่อมะเร็งได้ร่วมด้วยนั้น ป่วยเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีทุกตัวหลังจากเลี้ยงไปแล้วเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์น่าเชื่อถือในขณะนั้น  ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถเชื่อมโยงระหว่างการติดพยาธิใบไม้ตับและการก่อมะเร็งท่อน้ำดีในมนุษย์ได้อย่างกระจ่างแจ้ง ผลจากการวิจัยเหล่านี้จึงยังเป็นเพียงแค่ความเชื่อในแวดวงนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น อย่างไรก็ตามในปีนี้ WHO ได้ประกาศว่า “พยาธิใบไม้ตับเป็นสารก่อมะเร็งท่อน้ำดี”

จนกระทั่ง ปีพ.ศ. 2543 เกิดกลุ่มนักวิจัยด้านโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี  จากกลุ่มนักวิจัยชีวเคมี นักปรสิตวิทยา พยาธิแพทย์ รังสีแพทย์ และศัลยแพทย์ รวมตัวกัน เพื่อทำงานวิจัยต่อเนื่องจากการวิจัยในหนูทดลองเพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จนกระทั้งเกิดศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี สถานการณ์ในห้องผ่าตัดขณะนั้นดำเนินไปทุกๆวัน โดยมีการผ่าตัดและเสียชีวิตในเกือบทุกๆวัน ซึ่งคุณหมอณรงค์รับหน้าเป็นหมอผ่าตัดในขณะนั้น  และมีข้อมูลที่ไม่ได้นำมาเผยแพร่ว่ามีคนไข้หลายรายที่เข้ารับการผ่าตัดกับหมอสามารถรอดชีวิตได้จนถึงปัจจุบัน

 

 

 

 

 

Facebook Comments Box