โครงการ CASCAP

Share to Social


ศ.นพ. ณรงค์ ขันตีแก้ว
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี และหัวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma Screening and Care Program) 

ความเป็นมาของโครงการ CASCAP (Cholangiocarcinoma Screening and Care Program)

โรคมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความชุกสูงมากที่สุดในประเทศ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้รับการบันทึกว่าเป็นแหล่งที่พบผู้ป่วยโรคของมะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุดในโลก และยิ่งน่าใจหายอย่างยิ่งที่สถิติเดียวกันยังระบุยอดผู้เสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีสูงถึง กว่า 50 คนต่อวัน กระทรวงสาธารณสุขในปี 2557 ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีจำนวนทั้งสิ้น 14,000 รายและมีผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีจำนวนทั้งสิ้น 6,000,000 คนทั่วประเทศซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ในแหล่งระบาดของพยาธิใบไม้ตับที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งท่อน้ำดี

โครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma Screening and Care Program) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า โครงการ CASCAP จึงได้รับการพัฒนาขึ้นด้วยการสนับสนุนให้เป็นหนึ่งในโครงการเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 โดยมีกิจกรรมหลักคือ “วาระอีสานต้านภัยมะเร็งท่อน้ำดีกับมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดีสัญจร” ทำการตรวจคัดกรองชาวอีสานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงด้วยวิธีอัลตร้าซาวด์ช่องท้องเพื่อหาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้น โดยได้ความร่วมมือกับบุคลากรสาธารณสุขหลายฝ่ายตั้งแต่ระดับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลประจำตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด ศูนย์มะเร็งจังหวัดอุดรธานี ศูนย์มะเร็งจังหวัดอุบลราชธานี โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง และโรงพยาบาลศรีนครินทร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น กิจกรรมนี้ได้ถูกจัดมาถึงปัจจุบันกว่า 50 ครั้งแล้ว ข้อมูลการคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีของประชากรชาวอีสานที่เข้าร่วมโครงการกับ CASCAP ได้ถูกบันทึกลงในฐานข้อมูล Isan Cohort (เดิมใช้ชื่อว่า CASCAP Tools)

เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่าโครงการ CASCAP ดำเนินกิจกรรมมาต่อเนื่องยาวนานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของทีมแพทย์ พยาบาล นักวิจัย และบุคลากรสาธารณสุข จนภาครัฐและภาคเอกชนได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะมูลนิธิสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ทำโครงการ “สร้างสุกในสังคม” เป็นโครงการรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างยั่งยืน ซึ่งเบื้องต้นได้บริจาคเครื่องอัลตราซาวด์ให้กับโครงการ CASCAP มหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวนกว่า 40 เครื่อง เพื่อใช้ในการดำเนินงานตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี และยังได้จัดรายการรณรงค์ร่วมกับ CASCAP ภายใต้กิจกรรมที่ชื่อว่า “วาระแห่งชาติขจัดพยาธิใบไม้ตับต้านภัยมะเร็งท่อน้ำดี กับ มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดีสัญจร ครั้งที่ 50 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ครบ 70 ปี ในปี 2559 พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา”

จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 8 ปี แล้ว ในที่สุดโครงการ CASCAP ก็สามารถผลักดันให้การแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเป็น “วาระแห่งชาติ” ได้ และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกับแผน “ยุทธศาสตร์ทศวรรษการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี” เมื่อ 21 มิถุนายน 2559 จะทำให้การแก้ไขปัญหานี้ถูกยกระดับความสำคัญจากวาระอีสานเป็นงานระดับชาติและมีความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม มีการกำหนดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีงบประมาณให้สามารถทำงานได้ โดยที่มีเป้าหมายว่าจะต้องลดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขอีกต่อไป โครงการ CASCAP ได้ขยายฐานประชากรที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดีไปยังภาคเหนืออีก 6 จังหวัดและภาคตะวันออกอีก 1 จังหวัด (จ.สระแก้ว) ซึ่งเป็นพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์การระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับ โครงการ CASCAP มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือเป็นโครงการตัวอย่างที่ทำให้บุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากหลากหลายคณะวิชา ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่อยู่ภายนอกมหาวิทยาลัยได้อย่างหลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดีที่ร่วมโครงการวาระอีสานฯ กับ CASCAP มาโดยตลอด และสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ร่วมกันผลักดันการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีให้เป็นนโยบายสาธารณะจนสำเร็จ มาทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องเดียวกันให้กับสังคม ตอบโจทย์การทำงานของนักวิชาการและนักวิจัยว่า…ทำไปแล้ว สังคมได้อะไร

นับว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นประสบความสำเร็จในการทำงานวิจัยที่ทำมาอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพจนสามารถนำงานวิจัยเหล่านั้นมาทำเป็นโครงการเพื่อรักษาประโยชน์ให้กับประชาชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างยั่งยืน และอาจเกิดการขยายขอบข่ายการทำงานไปสู่สังคมระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้อย่างเต็มศักยภาพอันอนาคตอันใกล้

วัตถุประสงค์โครงการ

  1. สร้างเครือข่ายคัดกรอง เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดี
  2. Isan Cohort ฐานข้อมูลกลุ่มเสี่ยง
  3. การพัฒนาอาหารปลาปลอดพยาธิ
  4. การตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับในประชากรกลุ่มเสี่ยง
  5. การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงด้วย ultrasound
  6. การอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
ปรัชญาของ CASCAP

ปรัชญาของ CASCAP คือ ความตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือและการอุทิศแก่สังคมไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสังคมทั้งหมด พวกเราเริ่มต้นจากการช่วยเหลือประชาชนนับล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญแต่ถูกละเลยมาเป็นเวลานาน ถึงแม้จะมีการรณรงค์ด้านสาธารณสุขมากมายตลอด 60 ปีที่ผ่านมา แต่การติดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีก็ยังมีการเกิดสูง โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนั้นสูงถึง 20,000 รายต่อปี

ในการช่วยเหลือประชาชนและครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีนั้น จำเป็นจะต้องมีความร่วมมือจากสังคมในทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย การจัดสรรทรัพยากร การจัดการด้านสุขภาพ รวมถึงการทำวิจัยเพื่อแก่ปัญหาต่างๆที่เกิดจากโรคนี้ เราทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยเพื่อพัฒนาระบบ, ขั้นตอนการดำเนินงานและนโยบายเพื่อให้คนในชาติเกิดความตระหนักและหากลยุทธ์ในการป้องกันพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เราเชื่อว่าหนทางเดียวในการกำจัดพยาธิใบไม้ตับและลดการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีก็คือความร่วมมือของประชาชนจากทุกภาคส่วนในสังคมในการต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวนี้ มีประชาชนนับล้านในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคราบลุ่มแม่น้ำโขงที่ยังรอคอยความช่วยเหลือจากเรา เราสามารถยกระดับคุณภาพของการดูแลและรักษาเพิ่มการรอดชีพของประชาชนโดยอาศัยการทำงานร่วมกัน

เป้าหมายแรกของ CASCAP ก็คือความร่วมมือและการทำงานอย่างเป็นระบบในการตรวจกรอง ติดตาม วินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยหรือผู้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับทั้งการรักษาให้หายขาดหรือการรักษาแบบประคับประคองเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต วัตถุประสงค์ของเราก็คือการตรวจหาระยะเริ่มแรกของมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาสูงสุด รวมทั้งความร่วมมือที่มั่นคงกับเครือข่ายบุคคลากรสายสุขภาพที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษในการดูและจัดการโรคมะเร็งท่อน้ำดี ทาง CASCAP ทาบเป็นอย่างดีว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้มักอยู่ในเขตพื้นที่ห่างไกลและกันดารของประเทศซึ่งเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้ยาก เราจึงต้องมีการออกหน่วยสัญจรเพื่อทำการตรวจกรองเพื่อให้เข้าถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างแท้จริง

โครงการออกหน่วยสัญจรของ CASCAP คือ การออกหน่วยเคลื่อนที่ไปยังจังหวัดต่างๆในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทำการตรวจกรองให้แก่ประชาชนที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี โครงการนี้ได้มีการใช้เทคโนโลยีและการบริการด้านสุขภาพมาให้บริการแก่ประชาชนเพื่อให้สามารถเข้าถึงขั้นตอนการวินิจฉัยจากภาพถ่ายเพื่อใช้เป็นตัวบ่งชี้การเกิดโรค นอกจากนั้นพวกเรายังให้ความรู้แก่ประชาชนและเตือนให้ตระหนักโรคมะเร็งท่อน้ำดีโดยการฝึกอบรมแก่อาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ แง่มุมที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ CASCAP ก็คือการทำงานเพื่อแก้ไขข้อด้อยในด้านการรักษาและการจัดการมะเร็งท่อน้ำดี CASCAP ได้ให้ความรู้และจัดอบรมแก่บุคลากรทางการแพทย์และสถาบันที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์ของมะเร็งท่อน้ำดีสูง และทำงานเพื่อให้เกิดความชำนาญในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงมาตรฐานการวินิจฉัยและจัดการมะเร็งท่อน้ำดี เรายังทำหน้าที่เป็นเหมือนแหล่งความรู้โดยการนำบุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่มารับความรู้และฝึกอบรมเพื่อที่จะช่วยผลักดันการจำกัดพยาธิใบไม้ตับและลดการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี

แง่มุมที่สำคัญอีกด้านของ CASCAP ก็คือการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเก็บข้อมูลที่ได้จากการออกตรวจกรองและเพื่อเก็บข้อมูลทางการวิจัยเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่าทำไมการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีในบางพื้นที่จึงมีอัตราการเกิดสูง ระบบดังกล่าวนี้ยังช่วยปรับปรุงความสามารถของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยโดยการดึงข้อมูลของผู้ป่วยที่ถูกบันทึกเก็บไว้เมื่อได้รับการตรวจจากโครงการสัญจร ซึ่งการศึกษาสถิติ ความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อปัจจัยการเกิดโรค และการทำวิจัยเกี่ยวกับพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีมีความสำคัญมากพอๆกัน นี่เป็นหนทางที่เป็นไปได้จะเก็บข้อมูลส่วนกลางอย่างเป็นระบบ การสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรทางสาธารณสุข และการรวบรวมฐานข้อมูลให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ในส่วนนี้ CASCAP และศูนย์จัดการข้อมูลและสถิติวิเคราะห์ (DAMASAC) จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการพัฒนาระบบที่เรียกว่า CASCAP Tools และ CASCAP Cloud ขึ้นมา โดย CASCAP Tools ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อช่วยในการลงทะเบียนผู้ป่วย เก็บข้อมูลสุขภาพ และแนะนำการจัดการสุขภาพผู้ป่วย ส่วน CASCAP Cloud เป็นฐานข้อมูลส่วนกลางเพื่อใช้สำหรับเก็บรักษาข้อมูลและช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำการลงทะเบียนแล้วเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น

พยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานาน และมีหนทางมากมายในการที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายให้เราไขปัญหานี้

พันธกิจ

พันธกิจของ CASCAP เป็นพันธกิจที่มีการขับเคลื่อนไปพร้อมกับหลายๆ องค์ประกอบ ซึ่งเรามีวิสัยทัศน์อันแน่วแน่ในการที่จะทำพันธกิจให้สำเร็จตามเป้าหมาย การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ (Opisthorchis viverrini, Ov.) และโรคมะเร็งท่อน้ำดีคือภารกิจหลักสำคัญขององค์กรเรา ถึงแม้ว่าทั้งสองสิ่งนี้จะดูเหมือนเป็นคนละเรื่องกัน แต่ในความเป็นจริงกลับมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งสองสิ่งนี้มีความสำคัญเท่ากัน ซึ่งมีบริบทเฉพาะตัวที่ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ อย่างเพียงพอในการที่จะแก้ไขปัญหาทั้งสองอย่างนี้ เรามีความมุ่งมั่นในการที่จะให้โลกได้ตระหนักถึงการป้องกันการกำจัดของพยาธิใบไม้ตับ การลดอุบัติการณ์ของโรค รวมทั้งการปรับปรุงอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี

อย่างไรก็ตาม ยังมีประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่ติดพยาธิใบไม้ในตับกว่า 8 ล้านคน ซึ่งหากรวมในเขตพื้นที่ภาคเหนือด้วยแล้ว จำนวนผู้ติดพยาธิใบไม้ตับจริงจะมีมากกว่านี้ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากข้อมูลความชุกของการติดพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่ภาคเหนือยังมีไม่เพียงพอที่จะบอกจำนวนจริงผู้ติดเชื้อทั้งหมดได้ ซึ่งการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีในภูมิภาคนี้ และมีคนเสียชีวิตด้วยโรคนี้มากถึงปีละ 20,000 คน อัตราการเสียชีวิตเนื่องจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีสูง เนื่องมาจากโรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรง แต่เมื่อเป็นแล้วมักไม่แสดงอาการ และจะรู้ก็ต่อเมื่อการดำเนินโรคอยู่ในขั้นสูง ซึ่งเป็นระยะที่ไม่สามารถจะทำการรักษาได้แล้ว

ความท้าทายของภารกิจของเราก็คือ ความแตกต่างและความซับซ้อน ในทางสังคม, เศรษฐกิจ และปัญหาด้านวิทยาการต่างๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งส่วนสาธารณะ, เอกชน และรัฐบาล เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

การมีส่วนร่วมของรัฐบาลในการกำหนดมาตรการในการแก้ปัญหาการกำจัดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง การแก้ปัญหาพยาธิใบไม้ตับเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากวงจรชีวิตที่ซับซ้อนของพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นเราจึงต้องการการมีส่วนร่วมของรัฐบาล เช่น กระทรวงมหาดไทย, องค์การอาหารและยา, กรมประมง, กระทรวงสาธารณสุขและกระทวงศึกษาธิการ เพื่อกำหนดนโยบายร่วมกันในการช่วยป้องกันการติดพยาธิใบไม้ตับ รวมทั้งความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น บริษัทยา เพื่อพัฒนาวิธีใหม่ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาการติดพยาธิใบไม้ตับ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการติดพยาธิใบไม้ตับในคนก็คือการรับประทานปลามีเกล็ดแบบดิบหรือปลาสุกๆดิบๆ ซึ่งมีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับในระยะ metacercariae เมื่อรับประทานเข้าไปตัวอ่อนของพยาธิจะฟักตัวออกมาแล้วเคลื่อนที่ไปยังท่อน้ำดีซึ่งพยาธิจะสามารถอยู่ได้นานถึง 20 ปี แล้วก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของท่อน้ำดีซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพของเซลล์เยื่อบุท่อน้ำดีแล้วพัฒนาเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในที่สุด ถ้าหากมีการติดพยาธิเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีการรักษาจะมีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งท่อน้ำดี

จากเหตุผลดังกล่าวนี้ เราจึงต้องทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคปลาดิบรวมทั้งการป้องกันการแพร่กระจายของปลา ติดพยาธิ แต่การให้ความรู้แก่ประชาชนและการเตือนนั้นไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของปลาติดพยาธิ  การจำกัดพยาธิในปลาธรรมชาติก็เป็นสิ่งที่ทำยากเช่นกัน อย่างไรก็ตามแหล่งปกติของปลาที่ขายในตลาดก็คือฟาร์มปลา ซึ่งแหล่งนี้เป็นเป้าหมายจำเพาะของวงจรชีวิตพยาธิซึ่งปลาที่มาจากแหล่งนี้สามารถป้องกันการติดพยาธิของปลาในฟาร์มได้ แต่ปลาที่ขายในตลาดที่เป็นปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติก็ยังมีปัญหาอยู่ ดังนั้นจึงอาจจะต้องมีการให้ความรู้แก่ผู้จำหน่ายปลาและให้มีส่วนร่วมในการป้องกันการแพร่กระจายของปลาติดพยาธิ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์การอาหารและยาในการที่จะพัฒนานโยบายอาหารปลอดภัยในตลาดและการรณรงค์ป้องกันไม่ให้มีการจำหน่ายปลาติดพยาธิหรืออาหารที่ผลิตมาจากปลาดิบหรือปลาติดพยาธิที่ไม่ปรุงสุก

เมื่อคนติดพยาธิ พยาธิแต่ละตัวจะสามารถผลิตไข่ได้วันละ 400 ฟอง และจะไปที่ลำไส้ใหญ่และออกจากร่างกายผ่านอุจจาระ จากสาเหตุนี้เราจึงจำเป็นจะต้องมีการจัดการเกี่ยวกับสิ่งปฏิกูลด้วย ภารกิจแรกของเราก็คือการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในชนบทที่ปล่อยอุจจาระออกไปสู่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่ได้รับการจัดการสิ่งปฏิกูล ซึ่งประชาชนในพื้นที่เหล่านี้มีอัตราการติดพยาธิใบไม้ตับสูงและอยู่อาศัยใกล้แหล่งน้ำ ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่ไข่พยาธิจะแพร่สู่แหล่งน้ำธรรมชาติเช่นกัน ในพื้นที่ที่เจริญกว่าแต่ยังปรากฏพยาธิใบไม้ตับ เราจะหาแนวทางในการจัดการและกำจัดสิ่งปฏิกูล เมื่อสิ่งปฏิกูลเต็มจะมีการกำจัดสิ่งปฏิกูลเหล่านั้นโดยการดูดออกจากบ่อเกรอะ และโดยปกติสิ่งปฏิกูลก็จะถูกนำไปทิ้งตามพื้นที่ว่างหรือแหล่งน้ำโดยตรงโดยไม่มีการพักไว้ก่อน สำหรับปัญหานี้เราจึงต้องการความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทยที่จะกำหนดนโยบายและแนวทางในการจำกัดสิ่งปฏิกูล รวมทั้งการพัฒนาระบบสุขาภิบาลในพื้นที่ชนบท

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการติดพยาธิใบไม้ตับก็คือไข่พยาธิที่มาจากแมวและสุนัข ปัญหาดังกล่าวนี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากในประเทศไทยมีสุนัขและแมวจรจัดจำนวนมาก และเรามุ่งเน้นโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการพบพยาธิใบไม้ตับชุก เราจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ประชาชนและส่งเสริมการทำหมันสุนัขและแมวเพื่อลดจำนวนสุนัขและแมวจรจัด นอกจากนี้เรายังต้องการที่จะกระตุ้นให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงนำสัตว์มาตรวจพยาธิใบไม้ตับรวมทั้งรับการรักษาการติดพยาธิใบไม้ตับ เราได้ทำงานร่วมกับทางภาครัฐในการลงทะเบียนสุนัขและแมวรวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับสัตว์เลี้ยงเพื่อที่จะลดจำนวนสัตว์จรจัดและกำจัดพยาธิในสุนัขและแมว

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เมื่อมองในเชิงระบาดวิทยาก็ดูเหมือนว่าการติดพยาธิใบไม้ในตับและการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่แท้จริงแล้วการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับกับการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี มีความเกี่ยวข้องโดยตรงคือเมื่อความชุกของการติดพยาธิใบไม้ตับสูง อุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีก็สูงเช่นกัน

โรคมะเร็งท่อน้ำดีและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับปัจจัยเสี่ยงและอุบัติการณ์ของการเกิดโรค การจัดการและแก้ปัญหาของโรคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกเหนือจากการตรวจหากลุ่มเสี่ยงและตรวจพบการเกิดโรคในระยะต้นแล้ว  แนวทางในการรักษาที่มาตรฐานเพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีพของผู้ป่วยก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งนี่คือวัตถุประสงค์หลักในพันธกิจของเราเพื่อแก้ปัญหานี้ เราจึงต้องมีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความร่วมมือและกระตุ้นให้บุคลากรที่ทำงานในส่วนสาธารณสุขมีความกระตือรือร้นที่จะทำงานในพื้นที่ที่มีปัญหาโรคมะเร็งท่อน้ำดี เราต้องการความร่วมมือในการทำงานเพื่อที่จะกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาโรคมะเร็งท่อน้ำดีรวมทั้งพัฒนาแนวทางมาตรฐานในทางการแพทย์เกี่ยวกับการวินิจฉัย การรักษา และการจัดการโรคนี้

เราเริ่มจากการตรวจคัดกรองและติดตามประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้มักเป็นคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลซึ่งมีความลำบากในการเข้าถึงการตรวจสุขภาพ รวมทั้งข้อจำกัดด้านงบประมาณในการเดินทางมาตรวจที่โรงพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการตรวจที่โรงพยาบาล โครงการออกหน่วยคัดกรองสัญจรจึงเป็นการช่วยลดปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามเราก็ไม่สามารถที่จะทำได้โดยลำพัง ดังนั้นเราจึงต้องร่วมมือกับกับมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดีแห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางสนับสนุนและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อใช้ในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่ชนบท รวมทั้งการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความชำนาญในการใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดีและเพื่อพัฒนาวิธีมาตรฐานสำหรับการตรวจคัดกรองผู้ป่วยนอกจากนี้ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดตับและระบบทางเดินน้ำดีที่สามารถทำการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดียังมีไม่เพียงพอ ดังนั้นเราจึงต้องจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางมะเร็งท่อน้ำดีขึ้นมา ซึ่งหอผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยถึงแม้จะมีเตียงผู้ป่วยเพียง 19 เตียงในหอผู้ป่วยนี้ แต่ก็ยังมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเต็มทุกเตียงมาโดยตลอด หอผู้ป่วยจึงมีความต้องการที่จะขยายให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษา ศูนย์ความเป็นเลิศนี้ยังมีโครงการสำหรับฝึกอบรอมศัลยแพทย์ด้านตับและทางเดินน้ำดีเพื่อพัฒนาความชำนาญในการผ่าตัด

มีโรงพยาบาลหลายแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สามารถให้การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี อย่างไรก็ตามผู้ป่วยมักถูกส่งตัวไปที่อื่นหลังจากได้รับการวินิจฉัย ซึ่งบางครั้งอาจไม่มีความพร้อมในการผ่าตัดรักษา ซึ่งทางเราต้องอาศัยความร่วมมือจากทางกระทรวงสาธารณสุขเพื่อที่จะกำหนดนโยบายและแนวทางสำหรับโรงพยาบาลเพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกัน
เราต้องมีการทำวิจัยเกี่ยวกับพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในความชุกของพยาธิใบไม้ตับในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยรวมทั้งประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งยังคงมีช่องว่างของข้อมูลพื้นฐาน และบางพื้นที่ก็ไม่มีข้อมูล วิธีใหม่ในการตรวจมะเร็งท่อน้ำดีจึงเป็นที่ต้องการและถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยในการวินิจฉัย รวมทั้งการหาวิธีการรักษาเพิ่มเติมเพื่อช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของวิธีการรักษาในปัจจุบัน โดยทาง CASCAP ได้ ทำการศึกษาในกลุ่มประชากร (cohort study) สองโครงการเพื่อเก็บและรวบรวมข้อมูลจากประชาชนที่มารับการตรวจกรองซึ่งได้ลงทะเบียนมาในโครงการศึกษาดังกล่าวนี้ นอกจากนั้น CASCAP ยังทำงานร่วมกับศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเพื่อพัฒนาวิธีการตรวจการติดพยาธิใบตับด้วยวิธีที่ไวขึ้น ง่ายและมีความถูกต้องแม่นยำ

พันธกิจของเรามีความท้าทายอย่างมากและปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ก็คือความสำเร็จในการทำงานร่วมกับทางรัฐบาลเพื่อกำหนดนโยบายในการต่อสู้ปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งนี่คือส่วนที่ยากที่สุดในพันธกิจของเราและเราต้องการทีมที่มีความเข้าใจในนโยบายที่สร้างขึ้นเพื่อประเมินความเป็นไปได้ ซึ่งอาจจะต้องมีการวิจัยเพื่อที่จะหาวิธีที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับรัฐบาลในการดำเนินการและเพื่อกำกับดูแลนโยบายตามที่ต้องการ รวมทั้งเพื่อแสดงให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นที่ต้องการอย่างแท้จริง ถ้าเราสามารถดำเนินนโยบายนี้อย่างมีประสิทธิภาพ เราก็จะสามารถนำเสนองานวิจัยของเราต่อผู้กำหนดนโยบายและทำให้เกิดการยอมรับในหลักการและเหตุผลของเราในการทำโครงการนี้

เรามีงานและภารกิจมากมายที่จำเป็นจะต้องทำและจะไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ และเรายังคงมุ่งมั่นในพันธะกิจและอุทิศตนอย่างแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไมตับและมะเร็งท่อน้ำดี รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ เราต้องการความร่วมมือจากชุมชนเพื่อแบ่งปันสิ่งดีๆ และต้องการความมีส่วนร่วมจากนานาชาติเพื่อร่วมมือกับเราในวงกว้างขึ้น

Facebook Comments Box