โรคมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศไทย

Share to Social

      โรคมะเร็งท่อน้ำดีเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆของโรคมะเร็งทุกชนิดในประเทศไทยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยพบในผู้ชาย 135 คนต่อประชากร 100,000 คน และ ในผู้หญิง 48 คนต่อประชากร 100,000 คนซึ่งเป็นอุบัติการณ์ที่สูงที่สุดในโลกในแต่ละปีมีผู้ป่วยชาวอีสานเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีราวๆ 14,000 คน ผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการ ทำให้ช้าเกินกว่าจะแก้ไขได้ทันท่วงทีหากผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่,tงยังไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏจะมีโอกาสหายจากโรคได้มากกว่าปล่อยให้มาพบแพทย์เมื่อโรคอยู่ในระยะลุกลาม ผู้ป่วยเป็นตัวเหลือง ตาเหลือง จึงมาหาหมอ

     โรคมะเร็งท่อน้ำดี หรือชื่อทางการแพทย์คือ Cholangiocarcinoma (คอ-แลง-จิโอ-คาร์-ซิ-โน-มา) เป็นมะเร็งที่อยู่บริเวณเยื่อบุผนังของท่อทางเดินน้ำดีในภาคอีสานมีสาเหตุหลักคือเกิดจากการติดพยาธิใบไม้ตับชนิด Opisthorchis viverrini (โอ-พิส-ตอ-คิส-วิ-เวอ-ริ-นี่) ซึ่งเป็นตัวปรสิตที่พบในปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ด เช่น ปลาตะเพียน ปลาขาว ปลาสร้อย ปลากะสูบ ปลาแม่สะแด้ง ปลาซิว ปลาแก้มช้ำ ปลาขาวนา เป็นต้น ปลาเหล่านี้ หาได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อคนรับประทานปลาน้ำจืดเหล่านี้แบบสุกๆ ดิบๆ เช่น ทำเป็น ก้อยปลาดิบ ลาบปลาดิบ ปลาส้ม ปลาร้าที่หมักไม่เกิน 1 สัปดาห์โดยตัวอ่อนของพยาธิสามารถไชเข้าไปเจริญเติบโตอยู่ในท่อน้ำดีและมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 20 ปี และจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในท่อน้ำดีและเกิดเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในที่สุดอย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการติดเชื้อ เราจะยังไม่ได้เป็นมะเร็งในทันที แต่กระบวนการก่อมะเร็งที่บริเวณท่อน้ำดีในตับจะใช้เวลาอย่างน้อย 20-30 ปีจึงจะตรวจพบก้อนเนื้อร้ายดังนั้นชาวบ้านจึงมักไม่ตะหนักที่จะเลิกนิสัยการบริโภคปลาดิบ และซ้ำร้ายยังใช้วิธีกินยาถ่ายพยาธิเอา ทำให้มีพฤติกรรมแบบติดพยาธิซ้ำซาก ส่งผลให้เกิดภาวะอักเสบแบบเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี

      ดังนั้นโรคมะเร็งท่อน้ำดีที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับจึงจัดเป็นมะเร็งกลุ่มที่ป้องกันได้ และรักษาหาย หากแพทย์สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่ผู้ป่วยยังไม่ปรากฎอาการแสดงออกโดยยุทธศาสตร์การควบคุมโรคที่สำคัญคือ ต้องมีกระบวนการค้นหากลุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดี นั่นคือ ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นชาวอีสานโดยกำเนิด มีประวัติกินปลาน้ำจืดสุก ๆดิบๆ หรือมีประวัติการติดพยาธิใบไม้ตับ แล้วนำบุคคลเหล่านี้มาลงทะเบียนเป็นกลุ่มเสี่ยง เก็บไว้ในฐานข้อมูลที่เรียกว่า Isan Cohort กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวจะถูกเรียกมาตรวจคัดกรองด้วยการทำอัลตราซาวด์ บริเวณตับซึ่งจะพบรอยโรคที่ทางการแพทย์เรียกว่า periductal fibrosis (เพอ-ริ-ดัก-ตัล-ไฟ-โบร-สิส) หมายถึงการเป็นพังผืดรอบท่อทางเดินน้ำดี เนื่องจากมีการติดเชื้อพยาธิแบบเรื้อรังยาวนาน ซึ่งหากพบรอยโรคนี้ เรียกว่ากลุ่มเสี่ยงสูง ก็จะใช้เป็นตัวชี้วัดการพัฒนาเป็นมะเร็งท่อน้ำดีได้วิธีหนึ่งและแพทย์ควรเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยงสูงนี้ด้วยการทำอัลตร้าซาวด์ซ้ำทุกๆ 6 เดือน ก็จะทำให้มีโอกาสตรวจพบมะเร็งระยะเริ่มต้นได้ การรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีในระยะเริ่มต้น สามารถรักษาให้หายขาดได้ถึง 90%  วิธีการรักษาที่มีประสิทธิผลดีที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่การผ่าตัด ซึ่งจะทำโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับและทางเดินน้ำดีโรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี ได้แก่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และ โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี เป็นต้น ปัจจุบันนี้พบว่า แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีให้หายขาดได้ถึง 45 % สำหรับผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่อยู่ในระยะลุกลามไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด จะได้รับการรักษาแบบประคับประคอง จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

Print

Facebook Comments Box