มข. จับมือ วช. ลงนามขยายพื้นที่ต้นแบบแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ร่วมกับ อ.มัญจาคีรี และ อ.หนองเรือ

Share to Social

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม กรรมการและเลขานุการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำโดย นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เทศบาลตำบลมัญจาคีรี นำโดย นายธีระยุทธ  ต้องสู้ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอมัญจาคีรี นำโดย นายกานต์  ทองเสน ปลัดอำเภอ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอหนองเรือ นำโดย นายพิชิต แสนเสนา พร้อมหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลมัญจาคีรี และมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี ได้ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) “ความร่วมมือเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่ต้นแบบ” ณ หอประชุมโรงเรียนมัญจาศึกษา อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก นายพันธ์เทพ  เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธี

บันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ดังกล่าว มีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือการพัฒนาและขับเคลื่อนต้นแบบในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี อย่างครบวงจรการเกิดปัญหา และยั่งยืน ผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการ รณรงค์และสร้างความตระหนักในปัญหา ตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ส่งเสริมการนำหลักสูตรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อนํ้าดีไปใช้ในโรงเรียน ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลเพื่อการตัดวงจรพยาธิใบไม้ตับ พัฒนาเครือข่ายอาหารปลอดภัย : ปลาปลอดพยาธิใบไม้ตับ และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางสาธารณสุขร่วมกัน

รศ.ดร.วัชรินทร์  ลอยลม กรรมการและเลขานุการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี กล่าวถึงการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า “มะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) เป็นมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุท่อน้ำดีทั้งในและนอกตับ พบอุบัติการณ์ในประเทศไทยมากกว่า 14 ต่อแสนประชากร ซึ่งทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละกว่า 10,000 – 20,000 ราย โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี คือ พยาธิใบไม้ตับ (O.Viverrini) ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้จัดให้โรคพยาธิใบไม้ตับเป็นตัวก่อมะเร็ง (Carcinogen) ของมะเร็งท่อน้ำดี

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ และผู้นำของสถาบันอุดมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ทั้งในประเทศไทยและประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยถือเป็นโครงการสำคัญที่มหาวิทยาลัยแก่น ดำเนินงานเพื่อการอุทิศให้แก่สังคม

และจากการทำงานที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง ของสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งนำโดย ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ทำให้สามารถผลักดันคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559 – 2568  เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 โดยดำเนินการผ่านโครงการปลอดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อคนไทยสุขภาพดีในปี 2568

ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผ่านโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อน โดยมุ่งสร้างต้นแบบในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างบูรณาการ ดังที่ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัดในเขตสุขภาพที่ 7 โดยเฉพาะในอำเภอบ้านแฮด และอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น จึงทำให้เกิดแนวความคิดขยายรูปแบบการดำเนินการดังกล่าวไปยังพื้นที่อื่นเพิ่มเติม คืออำเภอมัญจาคีรี และอำเภอหนองเรือ รวมถึงขยายความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ด้วย

จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ “ความร่วมมือเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่ต้นแบบ” นี้ เพื่อสร้างความร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยการบูรณาการทรัพยากรและนวัตกรรมต่างๆ

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ขอแสดงความตั้งใจ ให้ความร่วมมือครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จนสามารถทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพดีขึ้น ซึ่งเป็นการลดการสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้”

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงการสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยท้าทายไทย: ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ว่า “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ผ่านการขับเคลื่อนโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยมุ่งหวังให้เกิดการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นการบูรณาการสหสาขาวิชาร่วมกับพื้นที่ ในการที่จะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาของพื้นที่อย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประเทศอย่างยั่งยืน

ดังนั้น วช. จึงได้สนับสนุนทุนการดำเนินงานวิจัย ภายใต้ แผนงานวิจัยท้าทายไทย: ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) แก่ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยหวังผลให้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้าดีนั้นลดน้อยลงหรือจนกระทั่งหมดไปจากประเทศไทย และจากการดำเนินการวิจัยที่ผ่านมาสามารถสร้างนวัตกรรมอันเป็นผลิตผลสำคัญในการแก้ไขปัญหาได้มากมาย อาทิ

  1. ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data ผ่านโปรแกรม “Isan cohort”
  2. ระบบขอคำปรึกษาสำหรับแพทย์ผู้ตรวจอัลตราซาวด์ “Tele-radio consultation”
  3. การวิเคราะห์ผลอัลตราซาวด์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Ai-Ultrasound)
  4. การแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือที่เรียกว่า “อำเภอต้นแบบ”
  5. ชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-Rapid Diagnosis Test – OV-RDT) เป็นต้น
  6. หลักสูตรการเรียนการสอนในการป้องกันกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในเด็กและเยาวชน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่ง ที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว โดยเฉพาะการที่สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี จะนำนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่จริง ด้วยการขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานภายในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นนี้ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ยินดีที่จะให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยขอนแก่น และหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยในทุกๆ ด้าน ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยต่อไป”

นายธีระยุทธ ต้องสู้ นายกเทศมนตรีตำบลมัญจาคีรี กล่าวว่า “พิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ เกิดจากความตระหนักและต้องการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ของหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่อำเภอมัญจาคีรี และอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเทศบาลตำบลมัญจาคีรีได้อาสาเป็นพื้นที่เริ่มต้น หรือ Kick off การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของทั้งสองอำเภอ โดยหวังก่อให้เกิดเครือข่ายพัฒนาความร่วมมือทั้งส่วนราชการ เอกชน และประชาชน สร้างแรงขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและยั่งยืน จนสามารถเป็นพื้นที่ต้นแบบได้”

นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ มีมาช้านาน และปัจจุบันยังคงอยู่ ซึ่งเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาจะไม่สามารถดำเนินการได้โดยหน่วยงานทางสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว จึงต้องอาศัยภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน ด้วยการบูรณาการทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน ดังที่ท่านตกลงลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันในวันนี้

ขอขอบคุณในความตั้งใจของทุกท่าน ที่ตกลงร่วมมือกันแก้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ขอให้ความร่วมมือนี้ บรรลุเป้าหมายอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ส่งผลให้ประชาชนชาวมัญจาคีรี และหนองเรือ มีคุณภาพชีวิตทางสุขภาพดีขึ้น ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีลดลง จนเป็นศูนย์ในที่สุด ซึ่งเป็นการช่วยลดการสูญเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน”

นอกจากการลงนามความร่วมมือทางวิชาการข้างต้นแล้ว กิจกรรมวันนี้ยังประกอบด้วย การบริการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับด้วยแอนติเจนในปัสสาวะ และบริการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยอัลตราซาวด์ แก่ประชาชน จำนวน 500 คน รวมถึงการรณรงค์ให้ความรู้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ผ่านนิทรรศการ โดยได้รับความอนุเคราะห์แพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจากหลายภาคส่วน ทั้งจากสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลมัญจาคีรี โรงพยาบาลชุมแพ โรงพยาบาลกรุงเทพอุดร เทศบาลตำบลมัญจาคีรี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และโรงเรียนมัญจาศึกษา รวมแล้วกว่า 100 คน

อำเภอมัญจาคีรี และอำเภอหนองเรือ เป็นพื้นที่เป้าหมายในการเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการ หลังจากที่ดำเนินการได้ประสบความสำเร็จมาแล้วในเขตสุขภาพที่ 7 โดยเฉพาะอำเภอบ้านแฮด และอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น รวมถึงเป็นการขยายความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการหนุนเสริมการแก้ไขปัญหา เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดบริการสาธารณะที่ใกล้ชิดประชาชน มีขอบเขตพื้นที่ชัดเจน และมีการบริหารงานที่คล่องตัว ทำให้สามารถจัดบริการสาธารณะได้ตรงตามปัญหาและความต้องการของประชาชนมากที่สุด

ภาพ : วันชัย กาญจนสุรัตน์
ข่าว : ธนาราช คงคารักษ์

Facebook Comments Box