CARI ประชุมหารือ สสจ.นครพนม พร้อมขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จ.นครพนม อย่างยั่งยืน

Share to Social

วันที่ 2 มิถุนายน 2565 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันฯ และนายศักดิ์เจริญ  ภวภูตานนท์ กรรมการมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี พร้อมคณะทำงาน เข้าประชุมหารือแผนการป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2565-2568 ในพื้นที่จังหวัดนครพนม โดยมี นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายแพทย์กิตติเชษฐ์  ธีรกุลพงศ์เวช รักษาการนายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม และนางจงกล ธมิกานนท์ หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานควบคุมโรค เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมรวมใจภักดิ์ ชั้น 1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม

ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว กล่าวว่า ” สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี (CARI) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนวิชาการ นวัตกรรม และงานวิจัย โดยได้ดำเนินงานผ่านโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างยั่งยืนด้วยการบูรณาการนวัตกรรมต่างๆ เข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อลดการสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาได้ประชุมหารือร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม จังหวัดนครพนม เทศบาลนครพนม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม โรงพยาบาลนครพนม กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยนครพนม ในการดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2565-2568 โดยดำเนินการในพื้นที่อำเภอนำร่อง อำเภอเรณูนคร อำเภอปลาปาก อำเภอเมืองนครพนม อำเภอท่าอุเทน และอำเภอศรีสงครามจังหวัดนครพนม โดยสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีพร้อมนำร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในพื้นที่จังหวัดนครพนมอย่างยั่งยืน 

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้กล่าวถึงสถานการณ์โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในจังหวัดนครพนมและภาพรวมการดำเนินงานในประเด็นดังกล่าว โดยข้อมูลความชุกของการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ จังหวัดนครพนม ปี 2559-2564 พบว่าในปี 2559-2564 มีอัตราความชุกฯ ร้อยละ 10.1/12.2/9.3/9.1/7.7 และ 5.9 ตามลำดับ โดยในปี 2565 มีพื้นที่ตำบลเป้าหมาย OVCCA ปี 2565 จำนวน 12 ตำบล และมีมาตรการต่างๆ ในการขับเคลื่อนงาน ดังนี้ 1) คัดกรองพยาธิใบไม้ตับในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีประวัติเสี่ยง 2) คัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไปที่มีประวัติเสี่ยง 3) สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) 4) จัดระบบสุขาภิบาล บริหารจัดการสิ่งปฏิกูล 5) รณรงค์อาหารปลอดภัย ปลาปลอดพยาธิ 6) มีระบบการรับ-ส่งต่อ ผู้ป่วยสงสัยมะเร็งท่อน้ำดีอย่างเป็นระบบ 7) รายงานผลการดำเนินงานผ่าน รง.506 และ ฐานข้อมูล จังหวัด 8) พัฒนาวิชาการและนวัตกรรม การตรวจพยาธิใบไม้ตับ 

การดำเนินงานภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2565-2568 ในพื้นที่จังหวัดนครพนม สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี จะได้มีการขับเคลื่อนงานร่วมกันในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. สร้างการรับรู้และความตระหนักในโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน
2. การสร้างความรอบรู้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในโรงเรียน
3. การดำเนินงานเกี่ยวกับอาหารปลอดพยาธิใบไม้ตับ
4. การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับในประชาชนกลุ่มเสี่ยง
5. การคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชนกลุ่มเสี่ยง
6. การพัฒนาระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างยั่งยืน
7.การพัฒนาระบบส่งต่อเพื่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

โดยคาดหวังให้บุคลากรทุกภาคส่วนและประชาชนมีความเข้าใจและตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีและเพื่อสร้างเครือข่ายและพัฒนาความร่วมมือการแก้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีจากทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างยั่งยืน และจะได้มีการกำหนดแผนปฏิบัติการร่วมกันในลำดับถัดไป

ภาพ/ข่าว : ปณิธาน ศรีบุญเรือง

 

Facebook Comments Box

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *