CARI ติดตามผลการตรวจ OV โดยชุดตรวจ RDT อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด

Share to Social

วันที่ 14 มีนาคม 2565 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย น.ส.สุปราณี วรพันธ์ ผู้จัดการโครงการ พร้อมคณะทำงาน เข้าเยี่ยมชมและติดตามผลการดำเนินงานตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับด้วยชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว OV RDT ที่ รพ.สต.บ้านโนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด โดยมีคณะทำงานจาก รพ.สต.ต่างๆ ในอำเภอปทุมรัตน์ พร้อมด้วยคณะวิจัยจากสำนักงานป้องกันและควบคุมโรค เขตพื้นที่ 7 ขอนแก่น เข้าร่วมสังเกตการณ์และติดตามผลการดำเนินงานในครั้งนี้ และได้รับเกียรติจากสาธารณสุขอำเภอปทุมรัตต์ เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานและร่วมหารือการทำงานร่วมกับคณะทำงาน

โดยคณะทำงาน รพ.สต.โนนสวรรค์ ได้ทำการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ในพื้นที่การดูแลของ รพ.สต.โนนสวรรค์ จำนวน 144 ราย ตามขั้นตอนการดำเนินงาน โดยมี น.ส.ชุติมา โฮมวงศ์ นักวิจัยโครงการ Re-Ov ให้คำแนะนำกระบวนการตรวจคัดกรอง การเตรียมตัวอย่าง และการใช้ App OV RDT บันทึกข้อมูล และยังได้เปิดให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่สอบถามรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงาน จากนั้น น.ส.สุปราณี วรพันธ์ ได้แนะนำการใช้งานระบบติดตามผลการตรวจคัดกรองในระบบ Isan Cohort ที่สามารถติดตามผลการบันทึกข้อมูลได้แบบ real-time ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นระบบที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อนำมาใช้ในการยกระดับการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับด้วยชุดตรวจสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV RDT)

คณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนาการตรวจวินิจฉัยพยาธิใบไม้ตับด้วยวิธีใหม่ โดยใช้ตัวตรวจจับจำเพาะหรือโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) ที่มีความจำเพาะต่อพยาธิใบไม้ตับและเป็นสารตรวจจับสิ่งคัดหลั่งหรือแอนติเจนของพยาธิใบไม้ตับในปัสสาวะ โดยชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดจากการตรวจวิธีอีไลซ่าให้มีรูปแบบที่ง่ายขึ้น ใช้เวลาสั้นลง และใช้ได้ในภาคสนาม โดยการตรวจใช้เวลาเพียง 10 นาที ที่เรียกว่า “ชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว [OV-Rapid Diagnosis Test – OV-RDT]”

ประโยชน์ของชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว OV-Rapid Diagnosis Test (OV-RDT)
1) สามารถตรวจคัดกรองประชาชนจำนวนมาก
2) ขั้นตอนในการตรวจไม่ซับซ้อน ทำได้ง่าย และไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษ
3) สามารถดำเนินการตรวจได้โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของชุมชนหรือสามารถดำเนินการตรวจได้ด้วยตัวเอง
4) สามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อซ่อนเร้นได้ในกรณีที่ตรวจไม่พบไข่พยาธิในอุจจาระ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น

 

ภาพ/ข่าว : ปณิธาน ศรีบุญเรือง

 

Facebook Comments Box