CARI จับมือ สคร.7 ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาบุคลากรตรวจคัดกรอง OV ด้วยชุดตรวจ RDT จ.กาฬสินธุ์

Share to Social

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น และสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ เขตสุขภาพที่ 7 ในการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับจากปัสสาวะอย่างเร็ว OV-RDT ณ โรงแรมชาร์ลอง บูทรีค อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ โดยได้รับเกียรติจาก นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 เป็นประธานในพิธีเปิด กิจกรรมดังกล่าวมีบุคลากรเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากภาคส่วนต่างๆ ใน จ.กาฬสินธุ์ เข้าร่วมจำนวนกว่า 120 คน

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 กล่าวว่า “โรคมะเร็งท่อน้ำดี ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่พบอุบัติการณ์การเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องในประชากรวัยทำงานที่เป็นหัวหน้าครอบครัวอายุระหว่าง 40–60 ปี ทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ เสียโอกาสในการทำงาน กลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งปัจจัยหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคปลาน้ำจืด มีเกล็ดแบบสุกๆ ดิบๆ โดยการปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นสาเหตุทำให้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ และนำไปสู่การเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ปัจจุบันภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้อย่างต่อเนื่อง โดยคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศเป็นแผนยุทธศาสตร์ กำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี พ.ศ. 2559–2568 โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนนำในการขับเคลื่อน เพื่อจะจัดการกับปัญหาสุขภาพนี้ให้หมดไปจากประเทศไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการบูรณาการนวัตกรรมในการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับด้วยชุดตรวจ OV-RDT ที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่สามารถดำเนินการตรวจคัดกรองได้ง่าย และสะดวกมากยิ่งขึ้น เพิ่มศักยภาพในการตรวจคัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น สามารถทราบผลการตรวจภายในเวลาเพียง 15 นาที ซึ่งจะเป็นผลดีในการติดตามและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่ได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด และเกิดความยั่งยืนในพื้นที่”

จากนั้น เป็นการบรรยายให้ความรู้ หัวข้อ การตัดวงจรพยาธิใบไม้ตับอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหามะเร็งท่อน้ำดี โดย ศ.ดร.ไพบูลย์ สิทธิถาวร จากภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เข้าใจถึงวงจรชีวิตของพยาธิใบไม้ตับและการตัดวงจรชีวิตพยาธิใบไม้ตับรวมถึงการตรวจคัดกรองหาพยาธิใบไม้ตับด้วยชุดตรวจ OV-RDT และจากนั้นเป็นการการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “การลงบันทึกและการรายงานผลในระบบ Isan-cohort” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีความเข้าใจในการลงทะเบียน การนำเข้าและจัดการข้อมูลในระบบ Isan Cohort โดย ดร.ชัยวัฒน์ ทะวะรุ่งเรือง และคณะ จากศูนย์วิเคราะห์และจัดการข้อมูล (DAMASAC) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  จากนั้น เป็นการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการฯและแผนการดำเนินงาน โดย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น

และในช่วงบ่าย เป็นการสาธิตการใช้ OV RDT reader application สำหรับตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ โดย Visual Intelligence Laboratory คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และการสาธิตและฝึกปฏิบัติการใช้ชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับจากปัสสาวะอย่างเร็ว OV-RDT ในประเด็นการเตรียมอุปกรณ์ในการเก็บ specimen ส่งตรวจ/การอ่านแปลผลและลงบันทึกผลชุดตรวจ OV-RDT ด้วยApplication และการรักษาและข้อควรระวังในการรักษาพยาธิใบไม้ตับ โดย ดร.ชนิกา วรสิษฐ จากโครงการ Re-OV มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

ภาพ : วันชัย กาญจนสุรัตน์
ข่าว : ปณิธาน ศรีบุญเรือง

Facebook Comments Box