Isan Cohort คนอีสานดูแลกันให้มั่นยืน

Share to Social

มะเร็งท่อน้ำดี อยู่คู่กับคนอีสานมานานหลายทศวรรษ เป็นมรดกอีสานที่ไม่พึงปรารถนา สาเหตุหลักคือปลาขาวดิบที่นำมารับประทานแบบสุกๆ ดิบๆ แล้วติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี แต่มะเร็งก็ไม่ได้เกิดทันที การที่บางคนติดพยาธิเมื่อนานมาแล้ว มาเริ่มมีอาการเมื่ออายุห้าสิบกว่า ส่วนบางคนแม้ติดพยาธิแต่ก็ไม่เกิดมะเร็งนี้ นำมาสู่คำถามว่า คนที่ติดพยาธิใบไม้ตับแล้ว ได้รับปัจจัยเสี่ยงอะไรอีกบ้าง หรือระยะเวลาอีกนานเท่าไรหลังจากนั้น จึงจะเกิดมะเร็งท่อน้ำดี นอกจากนั้น การได้รู้อาการเตือนตั้งแต่เนิ่นๆ การได้รู้ผลตรวจคัดกรองลักษณะผิดปกติของภาพอัลตร้าซาวด์ตับ รวมทั้งผลตรวจทางชีวเคมี หรือพยาธิวิทยา ที่บ่งบอกถึงความผิดปกติในระยะแรกของมะเร็ง ก็จะเกิดประโยชน์ในการควบคุม ป้องกันโรคนี้ รวมทั้งการดูแลรักษาที่มีประสิทธิผล องค์ความรู้ที่สามารถนำไปกำหนดมาตรการป้องกันได้อย่างถูกต้อง ว่าใครที่เสี่ยงสูง ที่ต้องตรวจคัดกรอง เริ่มคัดกรองเมื่อไร บ่อยเพียงใด และผลอย่างไร หรือแบบแผนของการเปลี่ยนแปลงผลการตรวจแบบใด ที่ต้องได้รับดูแลในระดับที่เร่งด่วน หรือส่งต่อไปตรวจหรือรักษาในระดับที่สูงขึ้นไป เหล่านี้ ล้วนต้องการการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ อย่างต่อเนื่องยาวนาน จนกว่าโรคจะสงบระงับ ซึ่งอาจหลายชั่วอายุคน และนั่นคือรูปแบบงานวิจัยที่เรียกว่า Cohort study จึงเป็นที่มาของ Isan Cohort เพื่อสร้างองค์ความรู้ต่อสู้กับมะเร็งท่อน้ำดี สำหรับคนอีสาน

เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ได้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง และเกิดประโยชน์ อย่างต่อเนื่องยาวนาน Isan Cohort จึงได้รับการออกแบบให้มีการเชื่อมประสานอย่างแนบแน่น และกลมกลืนไปกับงานประจำของหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงนั้น ด้วยการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลจากการให้บริการตามปกติของหน่วยบริการด้านสุขภาพ เข้ากับ CASCAP Tools ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อการคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี ผลจากการนี้ ทำให้ข้อมูลสุขภาพของคนอีสานที่มีในระบบของกระทรวงสาธารณสุข ตามที่มีการให้บริการสุขภาพตามปกติ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการติดพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีนั้น ได้รับการนำมาเชื่อมกับฐานข้อมูล CASCAP ซึ่งมีกระบวนการประกันคุณภาพข้อมูล และใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่เข้มงวดนั้น โดยอัตโนมัติ ทำให้เกิด Cohort ที่มีสมาชิกกลุ่มเสี่ยงหลายแสนคน ที่มีผลตรวจอัลตร้าซาวด์เป็นระยะ และสมาชิกที่เป็นผู้ป่วยหลายหมื่นคน ที่มีการติดตามกระทั่งหายหรือเสียชีวิต ข้อมูลที่มีคุณภาพถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ณ วันนี้ จะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามข้างต้น เป็นระยะ แต่นั่นก็ยังเป็นข้อสรุปจากสมาชิก Isan Cohort เพียงไม่กี่แสนคน ในขณะที่ประชากรอีสานมีมากกว่ายี่สิบล้านคน

isancohort-4

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และความเห็นพ้องต้องกันของทุกภาคส่วน ทำให้มีการนำ CASCAP Tools ไปใช้อย่างกว้างขวาง ครอบคลุมหน่วยบริการสาธารณสุขกว่าพันแห่ง เมื่อหน่วยบริการเหล่านั้นติดตั้งตัวเชื่อมฐานข้อมูลอัตโนมัติ ที่ชื่อ Thai Database Connector หรือ TDC จะยังผลให้ข้อมูลกลุ่มเสี่ยงเข้าสู่ Isan Cohort โดยอัตโนมัติ กระทั่งมีสมาชิกใน Isan Cohort มากกว่าสิบล้านคนในเวลาไม่ถึงปี กอปรกับการที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดยุทธศาสตร์ 10 ปีเพื่อต่อสู้ปัญหาพยาธิใบไม่ตับและมะเร็งท่อน้ำดี การที่ Isan Cohort จะกลายเป็น Cohort ของคนอีสานทั้งหมด จึงไม่เกินฝัน และการมีสมาชิกมากถึงเพียงนี้ ย่อมเพิ่มความสามารถให้เห็น ได้รู้ ในสิ่งที่พบได้ยาก และยิ่งติดตามยาวนานก็ยิ่งถูกต้องแม่นยำ

isancohort-1

ความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดที่กล่าวข้างต้น ทำให้พื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเช่นเดียวกันกับภาคอีสาน ได้นำ CASCAP Tools ไปใช้ และมีสมาชิกกลุ่มเสี่ยงเพิ่มมาอีกหลายล้านคน ชื่อ Isan Cohort จึงเป็นเสมือนตราหรือสัญญลักษณ์การต่อสู้ปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ที่ไม่เพียงคนอีสานเท่านั้นที่เป็นสมาชิก เราจะดูแลกัน เราไม่ทิ้งกัน

เขียนบทความโดย: รศ.ดร. บัณฑิต ถิ่นคำรพ (ผู้อำนวยการศูนย์ DAMASAC)

Facebook Comments Box