มหาวิทยาลัยขอนแก่น จับมือ วช. ลงนามความร่วมมือกับ อบจ.อุดรธานี ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเชิงบูรณาการ

Share to Social

วันที่ 13 กันยายน 2565 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น/ประธานมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำโดย นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี นำโดย นายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี  พร้อมด้วย เทศบาลนครอุดรธานี  นำโดย ดร.ธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี พร้อมด้วยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี และคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขต 8 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 8 อุดรธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 อุดรธานี ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และโรงพยาบาลอุดรธานี พร้อมผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ได้ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ความร่วมมือเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยได้รับเกียรติจาก นายกองเอกปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินงานแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือการพัฒนาและขับเคลื่อนต้นแบบในการกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ตรวจคัดกรอง รณรงค์ให้ความรู้เพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ส่งเสริมการนำหลักสูตรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อนํ้าดี ไปใช้ในโรงเรียน ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลเพื่อการตัดวงจรพยาธิใบไม้ตับ พัฒนาเครือข่ายอาหารปลอดภัย : ปลาปลอดพยาธิใบไม้ตับ และพัฒนาบุคลากรตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยเครื่องอัลตราซาวด์

ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี และประธานมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี กล่าวถึงการดำเนินงานเพื่อการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า ” มะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) เป็นมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุท่อน้ำดีทั้งในและนอกตับ พบอุบัติการณ์ในประเทศไทยมากกว่า 14 ต่อแสนประชากร ซึ่งทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละกว่า 10,000 – 20,000 ราย โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี คือ พยาธิใบไม้ตับ (O.Viverrini) ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้จัดให้โรคพยาธิใบไม้ตับเป็นตัวก่อมะเร็ง (Carcinogen) ของมะเร็งท่อน้ำดี

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีท่อน้ำดี ทั้งในประเทศไทยและประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยถือเป็นโครงการสำคัญที่มหาวิทยาลัยแก่นดำเนินงานเพื่อการอุทิศให้แก่สังคม และจากการทำงานที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องของ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี สามารถผลักดันคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559 – 2568 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 โดยดำเนินการผ่านโครงการปลอดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อคนไทยสุขภาพดีในปี 2568

ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผ่านโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนการแก้ปัญหา โดยมุ่งสร้างต้นแบบในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างบูรณาการ ดังที่ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัดในเขตสุขภาพที่ 7 ซึ่งทำให้เกิดแนวความคิดขยายรูปแบบการดำเนินการดังกล่าวมายังเขตสุขภาพที่ 8 ด้วยความที่มีพื้นที่ครอบคลุม 7 จังหวัด และมีประชากรมากถึงกว่า 5 ล้านคน โดยเฉพาะจังหวัดอุดรธานี ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด และขยายความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยความที่เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะ โดยเฉพาะทางด้านสาธารณสุขที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด

จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ “ความร่วมมือเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในพื้นที่ต้นแบบ” เพื่อสร้างความร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยการบูรณาการทรัพยากรและนวัตกรรมต่างๆ

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ขอแสดงความตั้งใจให้ความร่วมมือครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จนสามารถนำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพดีขึ้น ซึ่งเป็นการลดการสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้”

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงการสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ว่า “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ให้ความสำคัญต่อการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ โดยมีทิศทางการสนับสนุนทั้งวิทย์และศิลป์ควบคู่กัน ในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน วช. มุ่งเน้นการยกระดับระบบบริหารจัดการการวิจัยและนวัตกรรมแบบครบวงจร สนับสนุนและผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ในทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพการแพทย์ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจชุมชนฐานราก เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน โดยการบรูณาการความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชน นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์จริงในทุกมิติ รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อสร้างสังคม ฐานความรู้ และเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ

นอกจากนี้ วช. ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่สำคัญของประเทศ ผ่านการขับเคลื่อนโครงการวิจัยขนาดใหญ่ โดยได้สนับสนุนทุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมที่เรียกว่า “แผนงานวิจัยท้าทายไทย” ซึ่งเป็นการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมที่มีเป้าหมายชัดเจน มีการดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และเกิดผลกระทบที่เป็นรูปธรรม หนึ่งตัวอย่างของผลสำเร็จ คือ แผนงานวิจัยท้าทายไทย: ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) ที่มีศาสตราจารย์ นายแพทย์ณรงค์ ขันตีแก้ว สังกัดสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้บริหารแผนงาน (Director) โดยมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านนั้นมาสามารถสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสำคัญเพื่อนำไปใช้ในอำเภอต้นแบบ และขยายผลให้ครอบคลุมในพื้นที่เสี่ยง โดยมีการบูรณาการความร่วมมือของนักวิจัยและจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ และชุมชน ซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างยั่งยืน และหวังผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีให้ลดน้อยลงหรือหมดไปจากประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับ “ทศวรรษกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568” ของกระทรวงสาธารณสุข โดยโครงการวิจัยท้าทายไทย: ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ สามาถสร้างนวัตกรรมอันเป็นผลิตผลสำคัญในการแก้ไขปัญหามากมาย อาทิเช่น
1. ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data ผ่านโปรแกรม “Isan cohort”
2. ระบบขอคำปรึกษาสำหรับแพทย์ผู้ตรวจอัลตราซาวด์ “Tele-radio consultation”
3. การวิเคราะห์ผลอัลตราซาวด์ด้วยปัญญาประดิษฐ์
4. การแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ “อำเภอต้นแบบ”
5. ชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-Rapid Diagnosis Test – OV-RDT)
6. หลักสูตรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในเด็กและเยาวชน เป็นต้น

ซึ่งในวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า ผลจากความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายทำให้โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ สามารถนำองค์ความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้จริง และพร้อมนำไปขยายผลให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ได้ต่อไป ดังนั้นการผลักดันและสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง การใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม การใช้ศักยภาพของนักวิจัยไทยเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เป็นประเด็นท้าทาย หรือปัญหาในภาวะวิกฤตสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืนทั้งในระดับพื้นที่ และระดับประเทศ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่ง ที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรม โดยเฉพาะการที่สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะนำนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่จริง โดยการขยายความร่วมมือไปยังเขตสุขภาพที่ 8 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี และเทศบาลนครอุดรธานีนี้และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ยินดีที่จะให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยขอนแก่นและหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยในทุกๆ ด้าน ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยต่อไป” 

นายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี กล่าวถึงนโยบายความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ว่า ” จังหวัดอุดรธานี เป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และเป็นศูนย์กลางการคมนาคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และอื่นๆ มีแหล่งอารยธรรมอันเก่าแก่ซึ่งเป็นมรดกโลก และมีประชากรมากกว่า 1.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับกว่า 1.3 ล้านคน (ร้อยละ 84) จากการที่มีพฤติกรรมการบริโภคปลาดิบอันเป็นวิถีพื้นฐานของชาวอีสาน และการติดเชื้อดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งท่อน้ำดี ดังนั้น โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จึงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญของจังหวัดอุดรธานี

องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ในฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด มีภารกิจสำคัญในการจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการจัดการด้านการสาธารณสุข ซึ่งมีความพร้อมในทรัพยากร ทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร จึงมีความยินดีอย่างยิ่ง ในการร่วมเป็นภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี กับ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานวิจัยแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย การสนับสนุนงบประมาณ และการบูรณาการนวัตกรรมต่างๆ เพื่อประชากรจังหวัดอุดรธานีมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ปลอดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและอัตราการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีจนเป็นศูนย์ในที่สุด จนสามารถนำมาสู่การเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบนำร่องในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีของเขตสุขภาพที่ 8 ต่อไป

นายกองเอกปราโมทย์ ธัญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า “ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ มีมาช้านานและปัจจุบันยังคงอยู่ ซึ่งผมเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาจะไม่สามารถดำเนินการได้โดยหน่วยงานทางสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว จึงต้องอาศัยภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน ด้วยการบูรณาการทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน ดังที่ตกลงลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันในวันนี้ ขอขอบคุณในความตั้งใจของทุกท่าน ที่ตกลงร่วมมือกันแก้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ขอให้ความร่วมมือนี้ บรรลุเป้าหมายอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ส่งผลให้ประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานีมีคุณภาพชีวิตทางสุขภาพดีขึ้น ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีลดลง จนเป็นศูนย์ในที่สุด ซึ่งเป็นการช่วยลดการสูญเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน”

ประการหนึ่งที่สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีดำเนินการเรื่อยมา คือ มุ่งหาต้นแบบในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างบูรณาการ ดังที่ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัดในเขตสุขภาพที่ ๗ ซึ่งทำให้เกิดแนวความคิดขยายรูปแบบการดำเนินการดังกล่าวไปยังเขตสุขภาพที่ 8 ด้วยความที่มีพื้นที่ครอบคลุม 7 จังหวัด และมีประชากรมากถึงกว่า 5 ล้านคน โดยเฉพาะจังหวัดอุดรธานี ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานสำคัญในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดบริการสาธารณะที่ใกล้ชิดประชาชน มีขอบเขตพื้นที่ชัดเจน และมีการบริหารงานที่คล่องตัว ทำให้สามารถจัดบริการสาธารณะได้ตรงตามปัญหาและความต้องการของประชาชน ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี และเทศบาลนครอุดรธานี มีความพร้อมในทรัพยากรสำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร เหมาะสำหรับเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการของเขตสุขภาพที่ 8

ด้วยเหตุดังกล่าว สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งทำหน้าที่หลักในการสนับสนุนวิชาการ นวัตกรรม ผ่านโครงการวิจัยท้าทายไทย ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี เทศบาลนครอุดรธานี สำนักงานเขตสุขภาพที่ 8 กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 อุดรธานี ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขตพื้นที่ 8 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี และโรงพยาบาลอุดรธานี จัดโครงการความร่วมมือเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2565 – 2568 ขึ้น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้ด้วยการบูรณาการนวัตกรรมต่างๆ เป็นการลดการสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ความร่วมมือ ดังนี้
(1) สร้างการรับรู้และความตระหนักในโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน
(2) การสร้างความรอบรู้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในโรงเรียน
(3) การดำเนินงานเกี่ยวกับอาหารปลอดพยาธิใบไม้ตับ
(4) การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับในประชาชนกลุ่มเสี่ยง
(5) การคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชนกลุ่มเสี่ยง
(6) การพัฒนาระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างยั่งยืน
(7) การพัฒนาระบบส่งต่อเพื่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ภาพ : วันชัย กาญจนสุรัตน์     ข่าว : ปณิธาน ศรีบุญเรือง

 

Facebook Comments Box

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *