สคร.7 เข้าหารือสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี แนวทางการร่วมวิจัยชุดตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับในชุมชน (RDT) ในพื้นที่ เขตสุขภาพที่ 7

Share to Social

วันที่ 20 กันยายน 2564 สํานักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น นำโดย นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการฯ พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้แก่ นางกนกพร พินิจลึก ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สคร.7 ขอนแก่น นายบุญทนากร พรมภักดี หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาองค์กรและวิจัย นายกิตติพิชญ์ จันที หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อทั่วไป นางสุพัตรา สิมมาทัน หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อเรื้อรัง นางสุวัฒนา อ่อนประสงค์ หัวหน้างานวิจัย และนางวราพร สุดบุญมา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ได้เข้าประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนงานวิจัยชุดตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับในชุมชน (RDT) ในพื้นที่ เขตสุขภาพที่ 7 ร่วมกับสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ และ รศ.ดร. วัชรินทร์ ลอยลม กรรมการและเลขานุการสถาบันวิจัยฯ พร้อมด้วย ศ.ดร.ไพบูลย์ สิทธิถาวร หัวหน้าทีมวิจัยชุดตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับในชุมชน (RDT) 

การประชุมหารือในวันนี้ เป็นผลต่อเนื่องจากพิธีมอบ ชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-Rapid diagnostic test : OV-RDT) จำนวน 100,000 ชุด มอบให้กับ เขตสุขภาพที่ 7 กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกระทรวงสาธารณสุข โดย เขตสุขภาพที่ 7 ที่มีเป้าหมายร่วมกันที่จะช่วยสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ “กำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568” ได้เป็นอย่างดีและเห็นผลเป็นรูปธรรม ทำให้สามารถค้นหาผู้ติดเชื้อที่แท้จริงได้ ทั้งยังให้ผลการตรวจเชิงปริมาณที่สัมพันธ์กับความหนาแน่นของพยาธิ ทำให้สามารถนำมาใช้ในการตรวจประเมินหลังการให้ยารักษา รวมไปถึงการหาอัตราการติดเชื้อซ้ำหรือการติดเชื้อใหม่ได้ด้วย

ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ร่วมกันพัฒนาการตรวจวินิจฉัยพยาธิใบไม้ตับในรูปแบบ “ชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-Rapid diagnostic test : OV-RDT)” โดยได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุข ผ่าน เขตสุขภาพที่ 7 จำนวน 100,000 ชุด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ได้อย่างทันท่วงที สามารถตรวจคัดกรองประชาชนจำนวนมาก ขั้นตอนในการตรวจไม่ซับซ้อน ทำได้ง่าย และไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษ สามารถดำเนินการตรวจได้โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของชุมชนหรือสามารถดำเนินการตรวจได้ด้วยตัวเอง ที่สำคัญคือสามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อซ่อนเร้นได้ในกรณีที่ตรวจไม่พบไข่พยาธิในอุจจาระ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยการนำเอาชุดตรวจฯ ไปใช้งานในพื้นที่สถาบันฯ เห็นควรให้มีการนำไปใช้ในรูปแบบของกระบวนการวิจัย มีการประเมินผลเชิงวิจัยเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลทั่วถึงอย่างมีมาตรฐาน อันจะนำไปสู่การทราบข้อมูลอุบัติการณ์การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่ดูแลของเขตสุขภาพที่ 7 เพื่อที่จะนำเอานวัตกรรมและงานวิจัยแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีภายใต้สถาบันวิจัยฯ ลงไปขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 

การประชุมหารือในครั้งนี้ สํานักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่นและสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้วางประเด็นเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในประเด็นต่างๆ อาทิ การสร้างแผนที่การระบาดของพยาธิใบไม้ตับในเขตพื้นที่ (Mapping) อัตราการรักษาหาย (Cure Rate) การวัดและประเมินการรับรู้ในประชากรกลุ่มติดเชื้อและกลุ่มไม่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ (Health Literacy) การติดตามประเมินการติดเชื้อซ้ำ (Recurrent) และการประเมินผลการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ Ov-CCA ปี 2559-2568 

ภาพ/ข่าว : ปณิธาน ศรีบุญเรือง

 

Facebook Comments Box

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *