ห้องปฏิบัติการ CASCAP

Share to Social

บริการตรวจปัสสาวะเพื่อคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับด้วยวิธี ELISA
นวัตกรรมใหม่เพื่อการวินิจฉัย การควบคุมและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับในประเทศไทยและอาเซียน

cascaplab-1

โครงการ CASCAP ได้ทำพิธีลงนามข้อตกลงทางวิชาการ (MOU) กับคณะเทคนิคการแพทย์ ด้านความร่วมมือในการดำเนินงานห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยภายใต้ชื่อว่า “ห้องปฏิบัติการ CASCAP” ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 ณ ชั้น 4 อาคารคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับ (Opisthorchiasis) และ โรคพยาธิสตรองจิลอยด์ (Strongyloidiasis) จากสิ่งส่งตรวจปัสสาวะ (ด้วยวิธี ELISA) สามารถตรวจได้ครั้งละ 400-600 รายต่อวัน โดยใช้เวลาตรวจประมาณ 5 ชั่วโมง รับบริการตรวจจากทั่วประเทศ

หลักการและเหตุผล

พยาธิใบไม้ตับเป็นสาเหตุปฐมภูมิของโรคมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีประชากรกลุ่มเสี่ยงจำนวน 79 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนยากจน วิธีการหนึ่งในความพยายามลดอุบัติการณ์โรคมะเร็งท่อน้ำดี คือการกำจัดพยาธิใบไม้ตับให้หมดไปจากแหล่งระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับ ปัจจุบันการตรวจอุจจาระค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อการให้ยารักษามีประสิทธิภาพต่ำ จำเป็นต้องตรวจอุจจาระซ้ำหลายครั้งโดยผู้ชำนาญการ ทำให้เกิดปัญหายุ่งยากในทางปฏิบัติทั้งในด้านการยอมรับและความสะดวกรวดเร็ว ดังนั้นคณะผู้วิจัยจากโครงการ CASCAP มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศาสตราจารย์ ดร. ไพบูลย์ สิทธิถาวร และคณะ ได้พัฒนาการตรวจวินิจฉัยพยาธิวิธีใหม่ โดยใช้ตัวตรวจจับจำเพาะที่สามารถตรวจหาสารคัดหลั่งของพยาธิในปัสสาวะโดยวิธี Enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) หรือ อีไลซ่า ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการตรวจอุจจาระ สามารถค้นหาผู้ติดเชื้อซ่อนเร้นในกลุ่มที่ตรวจไม่พบไข่พยาธิในอุจจาระได้ ทั้งยังให้ผลตรวจเชิงปริมาณที่สัมพันธ์กับความหนาแน่นของพยาธิ และใช้ในการตรวจประเมินหลังการให้ยารักษา หาอัตราการติดเชื้อซ้ำ หรือการติดเชื้อใหม่ได้ด้วย

วัตถุประสงค์

  • ใช้สำหรับตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับของคนโดยการตรวจปัสสาวะ
  • ใช้ประเมินผลการรักษาหลังการให้ยารักษา
  • ระดับแอนติเจนที่ตรวจได้บ่งบอกถึงความรุนแรงของโรค

คุณสมบัติของชุดตรวจสารคัดหลั่งจากปัสสาวะ

ชุดตรวจวิธีอีไลซ่า ใช้วิธี Sandwich (Capture) ELISA ซึ่งสามารถทำได้ในห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลทั่วไปที่มีเครื่องวัดค่าการดูดกลืนแสง (ELISA reader) สามารถตรวจได้ครั้งละ 400-600 รายต่อวัน โดยใช้เวลาตรวจประมาณ 5 ชั่วโมง

cascap-4 cascap-3

การพัฒนาในอนาคตอันใกล้

เราคาดว่าภายใน 1-2 ปีจะสามารถพัฒนาชุดตรวจสำเร็จรูปให้มีรูปแบบง่ายขึ้นใช้เวลาสั้นลง ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถตรวจการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในร่างกายและดูผลได้เองคล้ายกับการตรวจการตั้งครรภ์ เนื่องจากการเก็บตัวอย่างปัสสาวะทำได้ง่ายและปลอดภัยสามารถนำไปใช้ในการควบคุมเพื่อกำจัดพยาธิในประชาชนรายบุคคลหรือชุมชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างทั่วถึง แก้ปัญหาคอขวดของการตรวจอุจจาระ ใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนแนวนโยบายการกำจัดพยาธิเพื่อลดมะเร็งท่อน้ำดีให้เป็นจริงได้ต่อไป

ติดต่อสอบถามได้ที่ :

ดร.กุลธิดา โกพลรันต์
ห้อง 1416 ชั้น 4 อาคารคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40002
โทร: 043-463246 มือถือ: 091-0643540
Email: kulthida_kop@yahoo.com, http://cascap.kku.ac.th
Facebook : CASCAP KKU

Facebook Comments Box