สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี เข้าร่วมประชุม พชอ.โกสุมพิสัย สรุปผลการดำเนินงานโกสุมพิสัยโมเดล พร้อมขับเคลื่อนงานต่อเนื่องปี 2564

Share to Social

วันที่ 26 มีนาคม 2564 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย นางสาวสุปราณี วรพันธุ์ ผู้จัดการโครงการ พร้อมคณะทำงาน เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) อำเภอโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม โดยมีนายจำนง ศรีทรัพย์ สาธารณสุขอำเภอโกสุมพิสัย เป็นประธานที่ประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 25 คน

การประชุมครั้งนี้ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้สรุปผลการดำเนินงานและรายงานผลการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เป็นหนึ่งในประเด็นหลักขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอโกสุมพิสัย โดยมีผลการดำเนินงานในโครงการ ดังนี้
1.โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาอาสาสมัครแกนนำ Mr.&Mrs.OV-CCA เป็นการนำตัวแทนชุมชน จากแต่ละตำบล ทั้งหมด 20 ตำบล และกลุ่มสตรีตำบลแพง รวมทั้งสิ้นประมาณ 80 คน มาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการตัดวงจรพยาธิใบไม้ตับและร่วมวางแนวทางการแก้ไขปัญหาฯ ร่วมกัน เป็นการเพิ่มจำนวนบุคคลต้นแบบ และสร้างเครือข่ายการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่
2.ตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับจากแอนติเจนในปัสสาวะในประชาชนกลุ่มเสี่ยง อายุ 15 ปี ขึ้นไป จำนวน 3,939 ราย พบผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ จำนวน 613 ราย (ร้อยละ 15.59) โดยกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ทางสถาบันวิจัยฯ ได้ให้การรักษาโดยให้ยาถ่ายพยาธิใบไม้ตับและกำลังติดตามผลการรักษา

โดยในปี 2564 คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอโกสุมพิสัย ได้วางแนวทางในการดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้านการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างต่อเนื่อง โดยได้หารือแผนการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยอัลตร้าซาวด์เพื่อค้นหาและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงให้เข้าสู่การรักษาได้เร็วที่สุด และจะมีการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม และจะมีการอบรมให้ความรู้ผ่านหนังสั้นในกลุ่มมัธยมศึกษา

สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการดำเนินโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีแบบบูรณาการในทุกมิติ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ พัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมในการจัดการโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี พร้อมทั้งนำผลการวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และลดขั้นตอนในการคิดค้นเครื่องมือในการจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน โดยได้ขับเคลื่อนการทำงานร่วมคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ในรูปแบบ “อำเภอต้นแบบแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี” ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่ต้นแบบของกลุ่มจังหวัดในพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 7 กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้นำเอาโครงการวิจัยในด้านต่างๆ ลงมาขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงานที่สอดรับกับอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ยึดถือการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการอุทิศเพื่อสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะภาคอีสานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต

 

Facebook Comments Box