CARI & มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี เข้าหารือขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับมะเร็งท่อน้ำดี ร่วมกับ จ.นครพนม

Share to Social

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ พร้อมด้วย คณะกรรมการมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี ได้เข้าประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนงาน “โครงการความร่วมมือเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2565-2568” ระหว่าง จังหวัดนครพนม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม และ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีนายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว สมาชิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร ร่วมเป็นประธานการประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดนครพนมทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ เทศบาลเมืองนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม หอการค้าจังหวัดนครพนม สมาคมพ่อค้าจังหวัดนครพนม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม และโรงพยาบาลนครพนม เข้าร่วมประชุมจำนวน 25 คน

ที่ผ่านมา จากการดำเนินโครงการการศึกษาผลการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในเขต สุขภาพที่ 8 ประจำปี 2562 ในจังหวัดนครพนม โดยการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง ของกลุ่มเสี่ยงที่เข้าร่วมโครงการตรวจคัดกรองและรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma Screening and Care Program : CASCAP) พบว่า จังหวัดนครพนมนั้น อำเภอที่ตรวจพบไข่พยาธิสูงสุดในช่วงระยะเวลา 1 มกราคม 2559 ถึง 31 ธันวาคม 2560 คือ อำเภอเรณูนคร คิดเป็นร้อยละ 77.13 รองลงมาคือ อำเภอปลาปาก คิดเป็นร้อยละ 48.57 และอำเภอเมืองนครพนม คิดเป็นร้อยละ 47.61 ซึ่งถือว่าเป็นอุบัติการณ์ที่ค่อนข้างสูง โดยผู้เข้าร่วมโครงการเป็นคนที่มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดนครพนมและได้รับการตรวจคัดกรองโดยการทำอัลตร้าชาวด์ จำนวนทั้งหมด 11,860 ราย มีกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับการตรวจโดยระบบเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จำนวน 16 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.13 และกลุ่มดังกล่าวได้รับการตรวจยืนยันด้วยระบบเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แล้ว พบว่าเป็นมะเร็งท่อน้ำดี จำนวน 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.06 ของผู้เข้าร่วมโครงการ ผู้เข้าร่วมโครงการที่มีประวัติการตรวจค้นหาไข่พยาธิใบไม้ตับจำนวน 5,717 ราย และมีประวัติเป็นพยาธิใบไม้ตับจำนวน 2,175 ราย คิดเป็นร้อยละ 38.04 โดยในกลุ่มมีประวัติการรับประทานปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดดิบๆสุกๆ หรือปลาร้าไม่ต้มสุก ตรวจพบไข่พยาธิ คิดเป็นร้อยละ 39.20 ส่วนคนที่ไม่มีประวัติการ รับประทานปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดดิบๆสุกๆ หรือปลาร้าไม่ต้มสุก ตรวจพบไข่พยาธิ คิดเป็นร้อยละ 24.95

โดยจากอุบัติการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนชาวนครพนมทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม และจากความตระหนักรู้ร่วมกันในเรื่องปัญหาของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี โครงการวิจัยท้าทายไทย ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ โดย สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี จึงได้ร่วมกับ จังหวัดนครพนม เทศบาลเมืองนครพนม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม จัดโครงการความร่วมมือเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2565–2568 ขึ้น ภายใต้การทำงาน 7 ประเด็น ได้แก่ 1.สร้างการรับรู้และความตระหนักในโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน 2. การสร้างความรอบรู้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในโรงเรียน 3. การดำเนินงานเกี่ยวกับอาหารปลอดพยาธิใบไม้ตับ 4. การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับในประชาชนกลุ่มเสี่ยง 5. การคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชนกลุ่มเสี่ยง 6. การพัฒนาระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างยั่งยืน 7. การพัฒนาระบบส่งต่อเพื่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้นด้วยวิธีการตรวจอัลตราซาวด์เข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพื่อตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงติดพยาธิใบไม้ตับด้วยปัสสาวะให้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการรักษา เพื่อส่งเสริมให้มีการนำหลักสูตรเพื่อการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีไปสอนในโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อรณรงค์เผยแพร่ความรู้ในการป้องกันโรค อาหารปลอดภัย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการส่งเสริมสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีทั้งในกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป และเพื่อให้บุคลากรทุกภาคส่วนและประชาชนมีความเข้าใจและตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี

โดยผลจากการประชุมหารือร่วมกันในครั้งนี้ ทางจังหวัดนครพนมพร้อมบูรณาการขับเคลื่อนโครงการฯ ดังกล่าวร่วมกัน โดยจะจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างจังหวัดนครพนมและมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศาลากลางจังหวัดนครพนม

 

ภาพ/ข่าว : ปณิธาน ศรีบุญเรือง

 

Facebook Comments Box