CARI พร้อมทีมหลักสูตร เข้าประชุมร่วมกับ สพม.มหาสารคาม นำเสนอหลักสูตร OV CCA แก่ผู้บริหาร 35 โรงเรียน จ.มหาสารคาม

Share to Social

วันที่ 31 มีนาคม 2565 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการฯ พร้อมด้วย รศ.ดร.ธีรชัย  เนตรถนอมศักดิ์ หัวหน้าโครงการการพัฒนาการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผศ.ดร.สัมพันธ์ ถิ่นเวียงทอง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าประชุมร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษามหาสารคาม ในการประชุมผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สพม.มค ครั้งที่ 3/2565 ณ ห้องประชุมพระเทพสิทธาจารย์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษามหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม  โดยมี นายสวาท ฦาชา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษามหาสารคาม เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายสุริยา ทองบุญมา รอง ผอ.สพม.มค นายวิสิษฐ์ สมจิตรศรีปัญญา รอง ผอ.สพม.มค นายเอกลักษณ์ บุญท้าว รอง ผอ.สพม.มค ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบไปด้วย ผู้อำนวยการกลุ่มทุกกลุ่ม และผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด จำนวน 35 โรงเรียน 

การประชุมครั้งนี้ ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ได้หารือกับที่ประชุมในหัวข้อ “พยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มฤตยูเงียบที่ไม่ควรมองข้าม” โดยได้กล่าวถึงภาพรวมการเกิดอุบัติการณ์โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้ดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในรูปแบบอำเภอต้นแบบแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานคือ ตัดวงจรกำจัดพยาธิใบไม้ตับ คัดกรองและดูแลกลุ่มเสี่ยงให้เข้าสู่การรักษา และติดตามผลการดูแลรักษาผ่านระบบ Isan Cohort โดยมีการดำเนินงานครอบคลุม 7 ประเด็น ได้แก่ 1. สร้างการรับรู้และความตระหนักในโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน 2. การสร้างความรอบรู้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในโรงเรียน 3. การดำเนินงานเกี่ยวกับอาหารปลอดพยาธิใบไม้ตับ 4. การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับในประชาชนกลุ่มเสี่ยง 5. การคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชนกลุ่มเสี่ยง 6. การพัฒนาระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างยั่งยืน และ 7. การพัฒนาระบบส่งต่อเพื่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ซึ่งในประเด็น การสร้างความรอบรู้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในโรงเรียน รศ.ดร.ธีรชัย  เนตรถนอมศักดิ์ และ ผศ.ดร.สัมพันธ์ ถิ่นเวียงทอง ได้อธิบายถึงรายละเอียดการทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ตามแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568 โดยมีพื้นที่ดำเนินการ 29 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และจังหวัดสระแก้ว ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการระยะที่ 2 เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในรูปแบบอำเภอต้นแบบที่จะดำเนินงานเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งในในพื้นที่แบบบูรณาการ โดยประเด็นในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการทำให้เด็กและเยาวชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคอาหารแบบดิบ (raw attitude) และมีพฤติกรรมในการรับประทานที่ปลอดภัย (food safety) จึงเป็นที่มาของการพัฒนาและขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในสถานศึกษาพื้นที่เป้าหมาย โดยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ขับเคลื่อนงานดังกล่าว ภายใต้โครงการ “การพัฒนาการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี”

โดยที่ผ่านมาสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้ดำเนินโครงการวิจัยหลักสูตรป้องกันแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำสงคราม และลุ่มน้ำมูล จำนวนกว่า 80 โรงเรียน โดย คณะทำงานจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.ดร.ธีรชัย เนตรถนอมศักดิ์ จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ผลการประเมินการใช้หลักสูตรในพื้นที่ต้นแบบอยู่ในระดับดีเยี่ยม สามารถสร้างการกระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมเสริมหลักสูตรให้กับเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลักสูตร 3 ระดับ ประกอบไปด้วยหลักสูตรต่างๆ ได้แก่ หลักสูตรระดับประถมศึกษา หลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยก่อนหน้านี้ได้มีการนำลงไปใช้ในพื้นที่อำเภอบ้านแฮด และบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับผลตอบรับอยู่ในเกณฑ์ที่ดี 

จากนั้น นายสวาท ฦาชา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษามหาสารคาม ได้สอบถามคณะทำงานจากสถาบันวิจัยฯ ในรายละเอียดการนำเอาหลักสูตรการเรียนการสอนไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียน เพื่อที่จะนำไปหารือเพิ่มเติ่ม เพื่อที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนงานในจังหวัดมหาสารคามต่อไป

ภาพ/ข่าว : ปณิธาน ศรีบุญเรือง