สานพลัง กขป. อีสานทั้ง 4 เขต ประชุมหารือจตุรภาคี ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีร่วมกัน

Share to Social

วันที่ 23 สิงหาคม 2565 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับภาคีเครือข่าย คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ทั้ง 4 เขต ได้แก่ กขป.7, กขป.8, กขป.9 และ กขป.10 พร้อมด้วย สำนักงานเขตสุขภาพที่ 10, สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 10 รพ.สรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี และคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ 10 อุบลราชธานี ได้ประชุมเพื่อหารือการขับเคลื่อนป้องกันกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ณ ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานเขตสุขภาพที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายสุรพล สายพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ 10 อุบลราชธานี กล่าวต้อนรับและเป็นประธานการประชุม

การประชุมหารือเริ่มโดยการกล่าวถึงอุบัติการณ์และสถานการณ์การระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่ เขตสุขภาพที่ 10 โดย นางมลุลี แสนใจ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต10 อุบลราชธานี ได้กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดและความชุกของพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ มุกดาหาร ยโสธร พบว่า ตั้งแต่ปี 2555-2565 ได้ตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ มาแล้วจำนวนกว่า 587,304 คน พบติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ 24,017 คน (4%) จังหวัดที่พบการติดเชื้อมากที่สุด คือ ศรีสะเกษ ส่วนโรคมะเร็งท่อน้ำดี ในเขตสุขภาพที่ 10 จากข้อมูลปี 2555-2565 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 26,886 ราย เสียชีวิต 23,315 ราย (87%) ยังมีชีวิตอยู่ 3,571 ราย (13%) 

จากนั้น เป็นการชี้แจงที่มาและความสำคัญของการคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ และนวัตกรรมการตรวจคัดกรองชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับด้วยปัสสาวะชนิดเร็ว (OV-RDT) โดย ศ.ดร.ไพบูลย์ สิทธิถาวรหัวหน้านักวิจัยผู้พัฒนาชุดตรวจ OV-RDT และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี โดย ศ.ดร.ไพบูลย์ ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบันที่ทางสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีได้ทำงานวิจัยในพื้นที่ต่างๆ โดยได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับจากแอนติเจนในปัสสาวะ ปัจจุบันได้พัฒนางานวิจัยสู่ “ชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว OV-RDT” ซึ่งสามารถตรวจพยาธิใบไม้ตับจากปัสสาวะ รู้ผลภายใน 15 นาที ซึ่งจะทำให้การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสามารถขยายผลได้ทั่วถึงและมีความแม่นยำมากขึ้น

และ ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้กล่าวถึงการจัดการโรคมะเร็งท่อน้ำดี และผลการค้นหาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในระยะต้นด้วยอัลตราซาวด์ โดย พบว่ากลุ่มเสี่ยงที่เข้ารับการคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยอัลตร้าซาวด์มีอัตรารอดชีพหลังการผ่าตัดมากกว่ากลุ่มเสี่ยงที่เข้ามาที่โรงพยาบาลด้วยอาการตัวเหลืองตาเหลือง โดยปัจจุบันสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มีนวัตกรรมการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยอัลตร้าซาวด์ผ่านระบบ Teleradiology และ AI Ultrasound และมีเทคโนโลยีการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่ทันสมัย ทำให้อัตราการรอดชีพหลังการผ่าตัดมีอัตราที่เพิ่มขึ้น

จากนั้น เป็นการเสวนาการจัดการปัญหาโรคมะเร็งท่อน้ำดี โดยผ่านการขับเคลื่อนร่วมกับ “คณะกรรมการสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.)” ทั้ง 4 เขต โดย นายสุทธินันท์ บุญมี ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน กขป. 7 นพ.อิทธิพล สูงแข็ง รองประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน กขป. 8 นพ.สำเริง แหยงกระโทก ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน กขป. 9 นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน กขป. 10 ดำเนินการเสวนา โดย นพ.เรืองศิลป์ เถื่อนนาดี รองประธานมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี/นายกสมาคมปราบพยาธิใบไม้ตับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติร่วมกันที่จะร่วมผลักดันให้ประเด็นการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ การตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยอัลตร้าซาวด์ และ-การรักษา เป็นประเด็นเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

ภาพ/ข่าว : ปณิธาน ศรีบุญเรือง

 

Facebook Comments Box

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *